ธุรกิจน้ำดื่ม ใสๆไปได้ไกล
จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เรื่อง “ปัจจัย 4” เป็นสิ่งมนุษย์แทบขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำ” ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องดื่มน้ำทุกวัน ดังนั้น ธุรกิจผลิตน้ำดื่ม จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นมาโดยเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบสนองพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภค หลายคนคงได้ยินคำที่ว่า “มนุษย์ขาดอาหารได้ แต่ขาดน้ำไม่ได้” เป็นการตอกย้ำการทำธุรกิจดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจผลิตน้ำดื่ม เป็นธุรกิจสินค้า ที่เรียกว่า Bulk and Weight กล่าวคือ ธุรกิจที่กินพื้นที่ และหนัก ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กรวมกันประมาณ 2,000 ราย
นายสขภณ ชาญบูรณวัชร ประธานชมรมผู้ประกอบการน้ำดื่มแห่งประเทศไทย ให้เปิดเผยว่า ธุรกิจน้ำดื่มเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตมาก เพราะน้ำดื่มคือปัจจัย โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยตามคอนโด มีความนิยมซื้อน้ำดื่มแบบเป็นแพ็ก ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัว ตลาดน้ำดื่มมีโอกาสเติบโตขึ้น 10 – 15 % ต่อเนื่องจากนี้ไปเป็นเวลา 4 ปี โดยเฉพาะตามประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีปัญหาเรื่องระบบน้ำที่ยังไม่ดีพอ ตัวอย่างเช่น ได้รับออเดอร์มาจากประเทศเมียนมา ให้ไปส่งตามด่านชายแดน คือ แม่สอดและมะริด จึงเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวางโครงสร้าง
อย่างไรก็ตาม นายสขภณ กล่าวต่อว่า ปัญหาของธุรกิจผลิตน้ำดื่ม คือ เรื่องราคาที่รายเล็กสู้กับรายใหญ่ไม่ได้ ซึ่งรายใหญ่มีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นไม่ว่าเหล้า เบียร์ แล้วพ่วงด้วยน้ำดื่ม ซึ่งธุรกิจของรายใหญ่น้ำดื่มไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลัก แต่ทำออกมาเพื่อให้ครอบคลุมให้ครบวงจร รวมทั้งการมีตลาดหลักที่ทำการส่งเป็นของตัวเอง ส่วนรายเล็ก คือ ผลิตน้ำดื่มที่แถมตามปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส จะมีราคาขายที่ถูก การจัดจำหน่ายจะมีปัญหาเรื่องราคาขาย เพราะว่ามีต้นทุนการผลิตสูง แต่มีมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง ทำให้ราคาน้ำดื่มไม่สามารถไปเบียดกับรายใหญ่ได้ อีกทั้งเบียดรายเล็กด้วยกันเองก็ไม่ได้ โดยรายใหญ่ขายราคาแพ็กละ 40 กว่าบาทได้อย่างสบาย แต่รายเล็กขายในราคาเท่ากัน ซึ่งไม่คุ้ม เนื่องจากเรื่องค่าขนส่ง
“วันนี้มีโรงงานที่ผลิตน้ำดื่มมีจำนวนที่ไดมาตรฐานเพียงพอ แต่มีปัญหาเรื่องมาร์เก็ตติ้ง เงินที่หายไปส่วนใหญ่คือค่าขนส่ง เช่น อยู่อยุธยา สั่งน้ำจากกรุงเทพฯ ค่าขนส่งที่ไปส่งหมดไปกับค่าน้ำมัน ถ้ามีการนำรายเล็กแต่ละรายมารวมตัวกัน ตามแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดเป็นชมรมขึ้นมา มีมาตรฐานตาม อย. ใครได้รับออเดอร์จากที่อยู่ไกล ไม่คุ้มกับค่าส่ง ก็โยนเข้าส่วนกลางให้ผู้ผลิตที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า” นายสขภณ กล่าว
มุมมองผู้ประกอบการ
ด้าน นายธวัชชัย สุมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิ้งค์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจผลิตน้ำดื่ม เติบโตค่อนข้างเยอะ เมื่อดูจากบริษัทที่มีการเติบโตในระดับเลขสองหลัก เพราะว่าธุรกิจน้ำดื่มในปัจจุบัน มีการทำธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ปัจจุบันการทำธุรกิจน้ำดื่มเป็นในลักษณะการทำแบรนด์ให้ลูกค้า ซึ่งมีความต้องการทำแบรนด์ของตัวเอง ทำให้การเจริญเติบโตในกลุ่มลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ
“ผลประกอบการยอดขายต่อปีอยู่ในหลัก 50 ล้าน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ว่าน่าจะมีกำไรประมาณนี้ คือไม่ได้มองตลาดในภาพลบ คือธุรกิจน้ำยังเป็นธุรกิจที่มีความต้องการอยู่ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคตามต่างจังหวัด”
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า ตลาดการส่งน้ำดื่มปัจจุบันอยู่ที่กรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก แต่ที่เติบโตอย่างมากคือตลาดตามต่างจังหวัด ส่วนตลาดความต้องการในกรุงและปริมณฑล มีความต้องการเยอะเช่นกัน ซึ่งจะมาในลักษณะการจ้างผลิตน้ำตามแบรนด์ของตัวเอง โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นองค์กร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เครื่องดื่ม เจ้าของกิจการ SME ทั่วไป
“ปัจจุบัน ราคาขายส่ง ขายปลีก แต่ละที่ไม่เท่ากัน ภาคเหนือกับภาคใต้จะได้ราคาดี อีสานบางที่ราคาจะถูกหน่อย รวมถึงกรุงเทพ โดยราคาน้ำดื่มอยู่ประมาณ 35 –45 บาทต่อหนึ่งโหล”
นายธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย ว่า โดยอนาคตคาดการณ์ว่าตลาดน้ำดื่มยังไปได้อีกไกล และมีการเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันมีคนสนใจธุรกิจประเภทนี้เยอะขึ้น อีกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ที่จะทำให้ธุรกิจน้ำดื่ม เติบโตไปตามการเดินทางของคน คนไปตรงไหนเยอะ ตรงนั้นก็จะมีการบริโภคเยอะ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจน้ำดื่ม ยังถือว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามส่วนภูมิภาค หัวเมืองตามชุมชนในจังหวัดต่างๆ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะยิ่งไกลจะยิ่งแพง และไม่คุ้มกับค่าขนส่ง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจน้ำดื่มที่จะเจาะตลาดภายในพื้นที่นั้น มีโรงกรองน้ำตั้งขึ้นเป็นของตนเอง ซึ่งไม่ต้องเสียเงินกับค่าขนส่ง และสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
By : อนิรุทธิ์ จารึกธรรม