80/20 กับ Big Idea


กฎพาเรโต้ 80/20 (Pareto Principle) หมายถึง อะไรก็ตามที่เป็นส่วนน้อยประมาณ 20% สามารถสร้างคุณค่าในสิ่งนั้นได้ถึง 80% เช่น ลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์ 20% จะสร้างรายได้ขององค์กรได้ 80%  พนักงานที่มีคุณภาพ 20% สามารถสร้างงานที่มีประสิทธิภาพให้องค์กรถึง 80% พูดง่าย ๆ คือ ใช้ส่วนน้อย สร้างส่วนมาก

เพื่อให้ชัดเจนขึ้น เรามารู้จักกับที่มาของกฎนี้กันสักหน่อย … กฎพาเรโต้นี้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1906 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี ชื่อ Vitfredo Pareto ค้นพบว่า 20% ของคนในประเทศอิตาลีเป็นเจ้าของความมั่งคั่ง 80%  จากนั้นในปี 1940 Dr.Joseph M.Juran ได้ให้คำจำกัดความของกฎ 80/20 ว่า สิ่งสำคัญจำนวนไม่มาก สามารถสร้างผลกระทบได้ในปริมาณมาก  กลับกันสิ่งไม่สำคัญจำนวนมาก สร้างผลกระทบได้น้อย

ยกตัวอย่างการนำกฎ 80/20 มาใช้ในการบริหารองค์อร ได้แก่ 20% ของคนในองค์กรควบคุมอำนาจในการบริหารจัดการไว้ถึง 80% หรืออีกนัยหนึ่งงานที่ทำเกือบ 80% สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับองค์กรเพียง 20% เพราะส่วนมากเป็นงาน Routine หรือ Paperwork หรือคนสักประมาณ 20% ในองค์กรที่เป็น Top Performer, Super Talent หรือ Future Leader สามารถสร้างผลลัพธ์ให้องค์กรถึง 80%

ดังนั้นสาระสำคัญของกฎพาเรโต้ 80/20 คือ ให้มุ่งเน้นไปที่ 20% ของส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพื่อส่วนนี้จะสร้างผลลัพธ์ 80% หรือมากกว่า เพราะฉะนั้น ในการทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในภาคการผลิต การบริหารบุคคล หรือสิ่งใด จงหาให้ได้ว่าอะไรคือ 20% ที่จะสร้างผลลัพธ์ได้ถึง 80% และจงถือว่า 20% นี้ เป็นหัวใจของการทำงาน ต้องระวังไม่ให้เกิดการสูญเสีย 20% นี้เป็นอันขาด เพราะมันจะเป็นสาเหตุให้สูญเสียผลลัพธ์ไปถึง 80% หรือมากกว่าเลยทีเดียว

ดังนั้น หากคุณต้องการให้สินค้าหรือบริการของคุณสร้างมูลค้ามหาศาล คุณต้องหา Big Idea ที่เป็นจุดสำคัญของแบรนด์ เพราะจะเป็นหัวใจที่อยู่ในทุกจุดสัมผัสที่ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงได้  และต้องเป็น Big Idea จุดเดียวที่ประมาณ 20% เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้คุณเท่ากับหรือมากกว่า 80%

วิธีการหา Big Idea ต่อไปนี้ หยิบยกมากจากคุณรวิศ  หาญอุตสาหะ เจ้าของธุรกิจแป้งหอมศรีจันทร์ เขียนไว้ในหนังสือ Marketing Everything ที่เขียนถึง SMEs โดยเฉพาะ เพื่อให้แนวทางและให้แรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้มีโอกาสอ่านและนำไปใช้จริง ได้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับแป้งหอมศรีจันทร์

3 กระบวนการค้นหา Big Idea ที่คุณรวิศชี้นำไว้ ได้แก่

1.ต้องมีวิสัยทัศน์ในการเข้าใจผู้บริโภค สินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1.1 ประเภทนำตลาด เช่น iPad, iPhone รุ่นแรก หรือ ตอนที่ Ford Motor ทำรถยนต์ออกมาขาย ในตอนต้น ผู้บริโภคยังไม่มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้อย่างชัดเจน แต่ผู้ผลิตสามารถคาดการณ์ได้ว่างมันเป็นที่ว่างของตลาดและสามารถเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคได้ก่อนที่ผู้บริโภคจะรู้ตัว สินค้ากลุ่มนี้สร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ประกอบการ
1.2 สินค้าหรือบริการที่มีอยู่ในตลาดแล้ว แต่ต้องเติมส่วนต่าง ส่วนต่างนี้ถ้าหาได้มันจะกลายเป็นจุดแข็งที่จะทำให้คุณชนะคู่แข่ง ทำได้โดย “การคุยกับผู้บริโภค” ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น การคุยโดยตรง การสังเกตุการณ์ หรือการทำวิจัย
สิ่งสำคัญ คือ ต้องโยนความคิดเก่าในหัวออกไป แล้วเปิดใจให้กว้างที่สุด

2.ทำ Data Sieving หลังจากได้ข้อมูลในข้อ 1.2 มาแล้ว การทำ Data Sieving คือ การคัดกรองหาสิ่งที่เราสนใจ เช่น ในการทดลองสินค้าตัวหนึ่ง พบว่ามีผู้บริโภคกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ชอบกลิ่นของสินค้ามากเป็นพิเศษ ดูเหมือนไม่สำคัญในตอนแรก แต่เมื่อเจาะลึกแล้วพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นคนที่ใช้สินค้าปราศจากน้ำหอม เพราะเป็นคนแพ้ง่าย ซึ่งหมายความว่ากลิ่นน้ำหอมที่เราใส่นอกจากจะไม่ทำให้ผู้บริโภคมีอากาคแพ้แล้ว ยังทำให้เขารู้สึก “ปลอดภัย” เราจึงได้ใช้กลิ่นนี้เป็น Signature ของเราไป และขยายฐานลูกค้ากลุ่มแพ้ง่ายได้มหาศาล

3.Disruptive Process & Brainstorming เป็นกระบวนการคิดในการสร้างความแตกต่าง พูดง่าย ๆ คือ เอาสิ่งที่สินค้าหรือบริการที่เราทำอยู่มาทำการพลิกด้าน ขยาย หรือ ลด เพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการใหม่ สิ่งสำคัญในการ Brainstorm คือ ต้องกล้าที่จะโยนไอเดียเดิมที่เรารัก และถนัดทิ้งบ้างในบางครั้ง เพื่อขยายกรอบให้ได้มุมมองใหม่

ยกตัวอย่าง Big Idea ที่แตกต่างระดับโลกในธุรกิจกาแฟ … เดิมการดื่มกาแฟก่อนไปทำงาน มีทางเลือกหลัก 2 ทาง คือ หนึ่งใช้กาแฟชงสำเร็จรูป ซึ่งรสชาติพอดื่มได้ แต่ใช้เวลาในการเตรียมสั้น (สะดวกดี) สองใช้เครื่องทำ Espresso ซึ่งได้กาแฟรสชาติเยี่ยม แต่ใช้เวลามากในการบดเมล็ด ชง และทำความสะอาด เป็นรูปแบบ “เร็ว แต่ไม่อร่อย” และ “อร่อย แต่ช้า”

Nespresso มีโจทย์ว่า “เร็ว และ อร่อย” ด้วย จึงเป็นที่มาของเครื่องทำกาแฟที่ใช้ Capsule เป็นตัวบรรจุกาแฟ เมื่อต้องการดื่มก็ในไปใส่ในเครื่องที่ออกแบบมาให้น้ำร้อนเจาะทะลุผ่าน Capsule ออกมาเป็นกาแฟรสเลิศ พอกับแวะดื่มที่ร้านกาแฟสดเลิศ ๆ เลยทีเดียว นอกจากนี้เครื่องชากาแฟชนิด Capsule นี้ยังได้รับการออกแบบให้สวยงาม สามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ในห้องรับแขก ห้องครัว สำนักงาน และอื่น ๆ ได้อีกด้วย

และนี่คือ Big Idea บางทีแค่จุดเดียว โจทย์เดียว จุดเล็ก ๆ แค่ประมาณ 20% ก็พลิกธุรกิจของคุณ และสร้างผลลัพธ์มหาศาลให้คุณได้เท่ากับหรือมากกว่า 80%

Big Idea by PaRaMiTa