“ผู้ใดสามารถควบคุมการสื่อสารได้ ผู้นั้นคือผู้ทรงพลังอย่างแท้จริง” คำกล่าวข้างต้นนี้ดูจะเป็นความจริงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิตอล ที่ Social Media มีความสำคัญมาก ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะทำอะไรเป็นต้องอาศัยการสื่อสารและการทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันเป็นหลัก งานทุกอย่างถึงจะก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ ด้วยเหตุนี้เองกระมังที่ทำให้กระทรวงการคลังของประเทศไทยตี่นตัวในเรื่องนี้มากโดยเฉพาะในภาวะวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายจัดการฝึกอบรมมาเชิญให้ผมไปเป็นวิทยากรในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง
“ศิลปะการพูดต่อที่ชุมชนและเทคนิคการนำเสนอในที่ประชุมอย่างมืออาชีพ” จัดที่พัทยา 3 วัน 2 คืน แล้วหลังจากนั้นท่านผู้บริหารของแต่ละกรมที่ไปร่วมอบรมก็ตามมาเชิญให้ไปจัดให้แต่ละกรมอีก ในลักษณะเดียวกันโดยเริ่มจากกรมธนารักษ์ เป็นอาทิ นั่นย่อมเป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่ากระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้จริง ๆ
ท่านผู้นำองค์กรหลายท่านเป็นคนเก่ง มากความสามารถไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำงานหรือการติดต่อประสานงานกับคนได้ทั่วโลก แต่พอถึงคราวที่จะต้องพูดจาต่อหน้าสาธารณชนกลับขาดความมั่นใจ บางคนประหม่าถึงขึ้นพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเลยก็มี ทั้งๆ ที่มีความรู้อยู่มากมายในสมอง ผู้นำหลายท่านจึงพยายามที่จะแสวงหาความรู้และโอกาสที่จะได้พัฒนาในเรื่องเหล่านี้ ทุกท่านคงจะทราบดีนะครับว่า การพูดเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกโดยใช้ภาษาและเสียงในการสื่อความหมายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้าใจระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่มีอานุภาพมากที่สุดในโลก ดังนั้นการพูดจึงเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่เกิดจากการเรียนรู้ไม่ใช่เป็น “สัญชาตญาณ” มีหลักเกณฑ์และสามารถที่จะศึกษาและฝึกฝนได้ การพูดจำเป็นทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ที่ว่าเป็นศาสตร์เพราะมีหลักเกณฑ์และวิธีการวางไว้เป็นแนวทางสำหรับให้เรียนรู้และฝึกฝน ตลอดจนสามารถพิสูจน์และทดลองได้ และที่ว่าเป็น “ศิลป์” ก็เพราะต้องอาศัยการฝึกฝนโดยใช้เทคนิควิธีการที่จำเป็นต้องมีการปรับหรือพลิกแพลงในด้านต่าง ๆ เช่น ศิลปะการใช้ภาษาในการพูดและการแสดงท่าทางประกอบให้เหมาะกับผู้พูดแต่ละคนเพื่อให้การพูดครั้งนั้น ๆ เป็นการพูดที่ดี เหมาะแก่โอกาส กาลเทศะ มีชีวิตชีวา ทำให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน คล้อยตามและได้รับความรู้ควบคู่ไปกับความประทับใจด้วย
เมื่อพูดพึงการพูดในที่ชุมชน หลายคนอาจจะประหม่า วิตกกังวล ถ้าเลี่ยงได้ก็อยากเลี่ยงหรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็จะรู้สึกโล่งอก เมื่อการพูดครั้งนั้นผ่านพ้นไปได้ พอจะพูดในโอกาสต่อมาอาการวิตกกังวลก็จะเข้ามาครอบงำอีกครั้ง อาการเหล่านี้จะหายไปหรือทุเลาลงได้ ถ้าท่านได้เรียนรู้ฝึกฝนและ หมั่นพัฒนาการพูดของท่านเพราะสิ่งเหล่านี้มิใช่ “พรสวรรค์” อย่างเดียวเท่านั้น “พรแสวง” ก็เป็นเรื่องจำเป็นและท่านต้องสร้างความมั่นใจให้กับตัวท่านเองก่อน ถ้าตัวท่านยังไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว ใครล่ะครับที่จะมั่นใจในตัวท่าน ผู้ฟังทั้งหลายที่นั่งฟังท่านเขาจะมั่นใจในสิ่งที่ท่านพูดได้อย่างไร ผมมีข้อแนะนำยามที่ท่านต้องปรากฏกายต่อสาธารณชนหรือต้องพูดในที่ชุมชนดังต่อไปนี้นะครับ
- ท่านต้องเตรียมการพูด เนื้อหาสาระและลูกเล่น หรือ “มุข” ประกอบ (หากนำเอาสถานการณ์ปัจจุบันหรือสถานการณ์เฉพาะหน้าในที่ประชุมมาประกอบเข้ากับเนื้อหาที่จะนำเสนอด้วยก็จะทำให้ชวนฟังยิ่งขึ้น)
- ฝึกซ้อมการพูดโดยมีผู้สังเกตการณ์ (มิใช่การฝึกพูดหน้ากระจกเพราะกระจกบอกอะไรเราไม่ได้นะครับ)
- เมื่อปรากฏกายต่อสาธารณชนอาจสูดหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อลดอาการประหม่า พยายามทำอารมณ์ให้แจ่มใสและสายตามองผู้ฟัง (แค่พองาม)
- ปรับไมโครโฟนให้ฟังได้ชัดเจน (ควรตรวจสอบเครื่องเสียงและลำโพงด้วย)
- เริ่มการพูดด้วยการทักทายที่ประชุม
- วิเคราะห์ผู้ฟังให้ดีว่าเป็นใคร ผู้ชาย ผู้หญิง เพศทางเลือก เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ เชื้อชาติ ศาสนาอะไร เพื่อจะได้ไม่พลาดในเนื้อหาการนำเสนอ
- จบด้วยความมั่นใจและสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง
- ที่สำคัญคือต้องไม่พูดจนเกินเวลาที่เขากำหนดไว้
ศิลปะการพูดต่อที่ชุมชนที่น่ารู้อย่างยิ่งคือต้องพยายามพูดจาให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยการรักษาความเป็นตัวตนของเราเอง อย่าได้คิดไปลอกเลียนแบบใครเป็นอันขาด พยายามรักษาเนื้อหาสาระการพูดให้ตรงประเด็น ส่วนถ้าจะมีลูกเล่นลูกฮาบ้างนั้นก็ย่อมทำได้แต่ไม่ควรเป็นการพูดแบบสองแง่สองง่าม หยาบคาย พูดเรื่องใต้สะดือ รวมทั้งไม่ควรนำเรื่องพระราชวงศ์หรือเบื้องสูงมาทำเป็นลูกเล่นลูกฮาเด็ดขาด นอกจากนั้นควรพยายามฝึกฝนและหาประสบการณ์ในการพูดบ่อยๆ จะได้ไม่ประหม่าหรือพูดจาติดๆ ขัดๆ และอยากแนะนำให้ทุกท่านพยายามทำตัวเป็นนักอ่านและนักฟังที่ดีเพราะเราคงคิดอะไรเองทุกเรื่องไม่ได้ ความคิดหรือข้อเขียนของคนอื่นอาจช่วยให้เราคิดอะไรดีๆ หรือต่อยอดความคิดที่ดีๆ ขึ้นมาได้อีกมากมายก็ได้ ถ้าทำได้ดังกล่าวมาแล้วท่านก็จะกลายเป็นผู้นำที่พูดให้เกิดการชวนติดตามและนั่นคือความประทับใจที่สำคัญ เรื่องการพูดในที่สาธารณะนั้นสอนกันอย่างไรก็ไม่มีวันจบได้ ดังนั้นความสนใจใส่ใจอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญอันจะทำให้ท่านเป็นผู้นำที่มีความสมบูรณ์ทั้งในเรื่องศักยภาพ ความสามารถ และการถ่ายทอดสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดพลังและความร่วมมือร่วมใจในการทำงานตลอดไปนะครับ
“ขอให้ทุกท่านมีความสุขทุกครั้งที่ได้พูดในที่ชุมชนครับ”