แนวโน้มที่มาเลเซียจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างมวลชนสองขั้วเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปลายปี 2558 หลังจากการเดินขบวนของประชาชน “
เสื้อเหลือง” ที่ใช้แคมเปญ Bersih4 เรียกร้องให้นาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออก ก็เกิดมีการพยายามจัดตั้งมวลชน “
เสื้อแดง” สนับสนุนรัฐบาลขึ้นมาชน
จากนั้นสถานการณ์การเมืองของมวลชนเหมือนจะเงียบๆ ไป ทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งที่แท้แล้วพลังทางการเมืองสองขั้วไม่ได้หายไปไหน ฟูมฟักรอปะทุขึ้นตามสถานการณ์การเมืองใหญ่ที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับทุจริตในกองทุน 1MBD ที่กำลังซัดใส่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซะก์ เป็นระลอก
ล่าสุดกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาแถลงว่าจะฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์มูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐที่มีการฉ้อโกงไปจากกองทุน 1MBD ของประเทศมาเลเซีย
ที่จริงกระแสข่าวการทุจริตฉ้อฉล หรือแม้แต่การชี้มูลว่ามีการทุจริตในกองทุนดังกล่าวเกิดมาต่อเนื่อง เมื่อเดือนมกราคม-ต้นปีนี่เอง อัยการสูงสุดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้แถลงว่าตรวจสอบพบการทุจริตในกองทุนดังกล่าวมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและเงินส่วนน้อยจากที่ถูกโกง ถูกโอนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าไปฝากที่สวิตเซอร์แลนด์โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน
แต่ดูเหมือนว่า ดาบเล่มก่อนๆ หน้าจากการเปิดโปงของสื่อมวลชนหรือคำแถลงของอัยการสวิสจะยังไม่หนักพอ เพราะนาจิบ ราซะก์ ยังปกติสุขดีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการจับกุมฝ่ายค้านคนสำคัญในข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบอยู่เลย
จนกระทั่งมาเจอดาบของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐที่ฟันฉับลงมา!
ดาบนี้มีสะเทือนต่อเนื่อง…
ระลอกแรก เกิดมีการประสานเสียงทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายที่เคยอยู่พรรคเดียวกัน อย่างดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็ออกมาไล่นาจิบ ราซะก์ ชนิดเปิดหน้าชก
ขบวนการประชาชนที่นำโดยเอ็นจีโอซึ่งเคยจัดแรลลี่ต่อต้านรัฐบาลมาแล้ว 4 ครั้ง คือ ขบวนการ Bersih (แปลว่าใสสะอาด) ก็ขยับเช่นกัน ทุกคนกำลังจับตาว่าการนัดหมายชุมนุมของคนเสื้อเหลืองจะออกมาประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีภายใต้รหัส Bersih 5 กันอีกเมื่อไหร่
กระแสการนัดหมายของชาวเสื้อเหลืองย่อมเป็นที่จับตาอย่างแน่นอน เพราะมีผลงานในอดีตเป็นเครื่องการันตี Bersih4 ที่จัดระหว่าง 29-30 สิงหาคมปีที่แล้วมีคนออกนอกถนนมืดฟ้ามัวดิน แม้ตัวเลขของตำรวจจะให้แค่ 5 หมื่นคนในกัวลาลัมเปอร์แต่ภาพถ่ายที่ปรากฏออกสื่อบ่งบอกว่ามากกว่านั้น (ส่วนตัวเลขของฝ่ายเสื้อเหลืองเคลมว่ามีถึง 5 แสนคน อันนี้ก็คงจะมากไป)
การออกมาอย่างมืดฟ้ามัวดินของชาว Bersih สีเหลือง เป็นปฏิกิริยาให้เกิดชาวเสื้อแดงมาเลย์ขึ้นมาโดยนักการเมืองท้องถิ่น นามว่า ดาโต๊ะ ยามัล ยูนุส Datuk Jamal Yunos ระดมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาเดินถนนบ้าง แต่วิธีการของฝ่ายเสื้อแดงนี่สิ เป็นปุจฉาที่ต้องวิสัชนากัน
เสื้อแดงหนุนรัฐบาลแสดงออกด้วยท่าทีก้าวร้าว โชว์ความรุนแรง ทำโปสเตอร์โจมตีคนเสื้อเหลืองว่าเป็นชาวจีน ซึ่งเป็นชนชั้นสอง มีภาพคนมาเลย์ถือมีดกระโดดเชือดคอคนเสื้อเหลืองชาวจีน แล้วก็เดินขบวนตรงไปย่านคนจีนเพื่อแสดงพลัง
ส่งสัญญาณเชื้อชาตินิยม แยกภูมิบุตร ชาวมาเลย์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ออกจากชาวมาเลย์เชื้อสายจีนด้วยการนิยามว่าพวกเสื้อเหลืองเป็นชาวจีน ทั้งๆ ที่มีคนมาเลย์มากมายที่ร่วมในขบวนการเสื้อเหลือง แม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง มหาธีร์ โมฮัมหมัดก็ยังไปร่วมเดินด้วย
ปรากฏการณ์เสื้อแดงมาเลเซียจึงเป็นสัญญาณบางประการที่สะท้อนถึงรอยร้าว ไม่ลงตัวภายในโครงสร้างสังคมมาเลย์ ที่ถูกสะกิดปลุกขึ้นมาอีกครั้ง
หลังสงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องถึงช่วงที่มาเลเซียได้รับเอกราช ความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวจีนกับชาวมาเลย์ปรากฏอย่างชัดเจน ถึงขนาดเคยมีการจลาจล ฆ่า เผากันกลางกรุงกัวลัมเปอร์มาแล้ว และนี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่สิงคโปร์แยกประเทศออกไป
พรรคอัมโนในยุคหลังแม้จะประกาศตัวว่าหนุนนโยบายให้ชาวภูมิบุตรมาเลย์ได้สิทธิ์ต่างๆ เหนือชาวจีนแต่ก็มีช่องประนีประนอม เปิดพื้นที่ให้ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนได้ทั้งค้าขายและมีโอกาสทางการเมืองในระดับสำคัญ อัมโนเป็นตัวแทนของอิสลามทันสมัย ขณะที่พรรคฝ่ายค้านสำคัญอย่างพรรคพาส PAS ที่มีฐานเสียงทางรัฐตอนเหนือโดยเฉพาะกลันตัน เป็นพรรคการเมืองศาสนาฝ่ายขวา ขนาดที่ให้ใช้กฎหมายชารีอะห์มาใช้ในรัฐกลันตันอย่างเข้มงวด ล่าสุดถึงประกาศจะงัดกฎตัดมือ-ปาหินมาลงโทษคน
อัมโนปกครองมาเลเซียมาโดยตลอด โดยมีพรรคหลักอย่าง BN Barisan Nasional ที่ก่อตั้งโดยบิดาของ นาจิบ ราซะก์ เป็นแกนนำ แต่อัมโนก็มีการเมืองภายใน และเริ่มมีรอยแตกร้าวอย่างชัดเจน ขณะนี้มีปีกต่างๆ โดยเฉพาะปีกของมหาธีร์ โมฮัมหมัดที่ประกาศจะปลดนาจิบ ราซะก์ลงจากหัวหน้าพรรคเพื่อจะดันคนของฝ่ายตัวขึ้น
ขณะที่ในซีกฝ่ายค้านที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยรวมกันเรียกว่า พันธมิตรปากาตันรักยัต หรือ People’s Pack เองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน มีรอยร้าวจากนโยบายพื้นฐานชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่นกรณีที่พรรค PAS ที่เอียงไปทางศาสนานิยมสุดโต่งจนทำให้พรรคชาวจีนส่วนน้อยหรือ DAP แสดงออกว่าไม่เอาด้วย
การเมืองของมาเลเซียตอนนี้จึงดูจะถอยห่างจากเสถียรภาพมากขึ้นๆ ไม่ใช่มาเลเซียที่อัมโนครองอำนาจต่อเนื่อง มีอะไรสู้กันภายในพรรคแล้วประนีประนอมกันหลังจากชิงอำนาจภายในเสร็จ เหมือนที่เคยเป็นมาตลอด 50 ปี
การเมืองของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้เป็นปัจจัยเร่งเร้าหนึ่ง ที่จะทำให้การเมืองมาเลเซียร้อนแรงขึ้นอีก การที่ชาติตะวันตก อย่างสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาที่เป็นแนวหน้าลงดาบฟันนาจิบ ราซะก์ก็ชัดเจนดีอยู่ แนวนโยบายของผู้นำอัมโนต่อเนื่องมาแต่มหาธีร์ โมฮัมหมัดดูจะไม่เอียงไปทางอเมริกาจ๋า หรือให้ชัดก็คือไม่เป็นเสรีนิยมใหม่ตามแบบที่มหาอำนาจกำหนด มีความเป็นตัวของตัวเองในระดับสำคัญ เช่น ตอนที่เปิดข้อตกลงทางการค้าอาเซียนใหม่ๆ เมื่อถึงกำหนดต้องลดภาษีรถยนต์ มาเลเซียก็ไม่ลด บอกว่าไม่พร้อม เพื่อรอให้รถโปรตอนของตัวเองแข็งแรงเสียก่อน หรือกระทั่งตอนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มาเลเซียก็ปิดประเทศไม่เดินตามแนวของเอดีบี/เวิลด์แบงค์ และก็เป็นที่ทราบกันว่า มหาธีร์ โมฮัมหมัด ขัดแย้งกับ อันวาร์ อิบราฮิม เพราะอันวาร์นิยมในแนวทางตะวันตกนั่นเอง
ดาบของฝ่ายตะวันตกที่ฟันลงมาในครั้งนี้ ก็มีผลบางประการที่พึงจับตา
ในท่ามกลางกระแสอื้อฉาว โจมตีซัดใส่พรรครัฐบาล การฮึ่มๆ กันของประชาชนแต่ละฝ่าย รอยร้าวขององค์กรการเมืองทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมืองในภาพรวม
โลกที่กำลังวุ่นๆ กันอยู่ตอนนี้ได้เกิดมีกลุ่มขวาจัด กลุ่มศาสนานิยม กลุ่มชาตินิยม กลุ่มที่เชื่อในความรุนแรง และกลุ่มที่เชื่อในอำนาจนิยมมากขึ้นๆ อย่างเห็นได้ชัด เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง มากขึ้นเรื่อยๆ
และในเอเชียอาคเนย์ภูมิภาคของเราเอง ก็เริ่มจะเกิดปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวเช่นกัน