5% That Matters : ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ


มีผู้คนมากมายที่ลุกมาทำกิจการหรือทำธุรกิจของตัวเอง บางคนก็มีเป้าหมายเพียงทำแค่ให้พออยู่ได้ ให้มีเงินใช้เพียงพอเท่ากับหรือเยอะกว่าเงินเดือนแค่อีกเท่าตัวก็พอแล้ว แต่อันที่จริงลองได้ลงมือทำธุรกิจแล้ว ทำทั้งทีทำให้รวยกันเป็นเลยดีกว่า ยังไงก็ใช้เวลาเท่ากัน เหนื่อยเท่ากัน เผลอ ๆ เหนื่อยน้อยกว่าอีก … แล้วทำอย่างไรให้เหนื่อยน้อยกว่า

ทำด้วยการให้ความสำคัญกับ 5% That Matters … สร้าง 5% ให้เยี่ยม เพื่อต่อยอดให้อีก 95% พาฝันไปถึงฝั่ง … เรื่อง 5% That Matters นี้ หยิบมาจากหนังสือ Marketing Everything คุณรวิศ  หาญอิสระ ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งศรีจันทร์ เขียนไว้บอกผู้ประกอบการ SMEs ที่ปรารถนาความสำเร็จแบบพลิกโลกนะ คุณรวิศบอกว่า 5% That Matters อาจจะถูกปรับเปลี่ยนจากหลักของ Paleto 80/20 มาเป็น 95/5 เพื่อให้เหมาะกับโลกธุรกิจยุคนี้

5% That Matters คืออะไร ?

คือ ตัวชี้เป็นชี้ตายที่มีแต่ผู้ชนะเท่านั้นที่ทำได้ และเมื่อมีแล้วก็ต้องรักษาไว้ให้ดีตลอดไป เพราะการแข่งขันทางธุรกิจไม่เคยหยุด ถ้ารักษาไม่ได้ ส่วนแบ่งการตลาดก็จะเป็นของคู่แข่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

5% That Matters เป็นอย่างไร ?
คือ เป็นเรื่องของการให้เกียรติตัวเอง และให้เกียรติผู้บริโภค … ยกตัวอย่างจากวิถีญี่ปุ่นในเรื่องธุรกิจอาหาร … สงสัยกันมั๊ยว่าทำไม่อาหารญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นจึงอร่อยและมีผู้คนนิยมเดินทางข้ามประเทศเพื่อไปชิมกัน … เป็นเพราะว่าคนญี่ปุ่นมีความเคารพต่ออาชีพของตัวเองสูงมาก การบริการลูกค้า ถือเป็น “เกียรติ” ของอาชีพ ความประณีตในการบริการและการทำอาหารจึงมีอยู่ทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือใหญ่ ยิ่งร้านเล็ก ๆ ก็จะยิ่งประณีต ประเด็นนี้ราคาไม่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าลองเปรียบเทียบกับร้านเล็กและร้านใหญ่ของไทย คุณภาพความประณีตของอาหารและการบริการพูดได้ว่าตามขนาดของร้านเลย …

ยกตัวอย่างทริปที่คุณรวิศไปเที่ยวมา …
ร้านแรกเป็นซูชิชื่อดัง ขนาดเล็ก ๆ ประมาณ 10 ที่นั่ง ต้องโทรจองโต๊ะล่วงหน้า 4 เดือน ตะเกียบวางอยู่บนซูชิบาร์ เรียงเป็นมุมเท่ากัน และขนานกันเหมือนเอาไม้บรรทัดวัดไว้ คือ สิ่งแรกที่เห็นเมื่อไปถึงร้าน ไม่ว่าจะเสิร์ฟกี่ครั้ง เชฟก็จะวางซูชิในจานตรงมุมเดิมตลอด ถามได้ความว่าเป็นความตั้งใจและสังเกตมือข้างที่ถนัดและวางให้สะดวกกับความถนัดในการหยิบรับทาน … พูดเลยว่า ประณีตจริง ๆ  แค่นี้ยังไม่พอ จังหวะที่ลุกไปเข้าห้องน้ำเป็นจังหวะเดียวกับที่เชฟกำลังจะเสิร์ฟกุ้งลวก กลับมาที่โต๊ะเขาเสิร์ฟกุ้งตัวใหม่ให้ เพราะตัวเดิมนั้นอุณหภูมิไม่เหมาะกับความอร่อยแล้ว … พูดอีกครั้งว่า ประณีตจริง ๆ … จึงเป็นร้านชื่อดัง และต้องจองล่วงหน้ากันหลายเดือน

อีกร้านเป็นร้านชาบูเล็ก ๆ ประมาณ 15 ที่นั่ง เจ้าของร้านเป็นคุณป้าและลูกชาย พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และเมนูก็ภาษาญี่ปุ่นชัดเป๊ะ … คุณป้าบริการเราด้วยการยกเอาวัตถุดิบในครัวออกมาให้ดู และพาเดินไปดูในตู้เย็นอยากทานอะไรให้จิ้มเอา น่ารักมาก แม้คนจะเต็มร้าน แต่คุณป้าก็ช่วยเต็มที่

จังหวะเสิร์ฟเบียร์ ทุกแก้วจะมีฟองสูเท่ากันเป๊ะ เทอย่างประณีต เบียร์ไม่หกแม้สักหยด เป็นทักษะที่ผ่านการฝึกฝนอย่างเอาใจใส่

มาถึงตอนเสิร์ฟชาบู สิ่งที่โดดเด่น คือ ต้นหอมญี่ปุ่นซอยเป็นฝอยชิ้นเท่ากันหมด เป็นการยืนยันว่าแม้จะเป็นร้านชาบูเล็กๆ แต่ความประณีตยิ่งใหญ่มาก … คุณรวิศบอกว่า แวะไปทุกครั้งที่ไปญี่ปุ่นเลยทีเดียว

และยังมีตัวอย่างในสถานการณ์ซื้อของที่ญี่ปุ่น …
ซื้อของเสร็จเรียบร้อย พนักงานจะเดินไปส่งลูกค้าที่หน้าร้านพร้อมคำนับอย่างจริงใจ ซึ่งเชื่อว่าต่างจากแคชเชียร์บ้านเราที่สวัสดีพอเป็นพิธี และไม่ว่าจะซื้อของจะราคาถูกหรือแพง คนญี่ปุ่นจะเอาใจใส่ในการห่อของให้เป็นอย่างดี และหากฝนตก พนักงานจะมีถุงพลาสติกให้เราสวมไว้ข้างนอกถุงกระดาษอีกครั้งเพื่อป้องกันของด้านในเปียก … แบบนี้เรียกว่า บริการเป็นเลิศจริง ๆ … มิน่าล่ะ ใคร ๆ ก็อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น

และที่ยกตัวอย่างมานั้น คือ การบริหารจัดการในส่วนของ 5% That Matters ที่จะสร้างมูลค่าอีก 95% ให้กิจการหรือธุรกิจให้เติบโตแบบไม่มีใครมายื้อแย่งส่วนแบ่งตลาดไปได้ และที่สำคัญ “ใส่ใจในความเป็นเลิศในสิ่งที่ทำ คือการให้เกียรติกิจการของตัวเองและให้เกียรติผู้บริโภค” แล้วจะได้รับความไว้วางใจไปนานแสนนาน

By PaRaMiTa