กลุ่มผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 % ของประชากร หากย้อนไปในปี 2537 ผู้สูงอายุคิดเป็น 6.8 % ของประชากร และเพิ่มเป็น 9.4%, 10.7%, 12.2% ในปี 2545, 2550, 2554 ตามลำดับ รวมทั้งจะขยับขึ้นเป็น 14.9% ในปี 2557 คาดการณ์ว่าในปี 2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์หรือมีผู้สูงอายุมากกว่า 14 ล้านคน
จากสถิติดังกล่าวบ่งบอกได้ถึงจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และกลุ่มคนวัยแรงงานที่ลดน้อยลง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับการจับตลาดผู้สูงอายุที่จะกลายเป็นเทรนด์หลักต่อไปในอนาคตข้างหน้า ของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุ
หนึ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่น่าสนใจธุรกิจหนึ่ง คือการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทบริการ ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ ความเข้าใจในบริบทของการบริการ รวมทั้งความพร้อมในเรื่องสถานที่ว่ามีความเหมาะสมที่จะดูแลผู้สูงอายุหรือไม่ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุของไทยกับต่างประเทศมีความแตกต่างกันในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานการบริการ ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นที่มีการให้บริการที่ดีในการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนา ปรับเปลี่ยน ให้ธุรกิจมีความพร้อมสำหรับการให้บริการ อีกทั้งเรื่องเงินทุน และบุคลากร มีความสำคัญไม่แพ้กัน เงินทุนต้องรู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนบุคลากร คนที่จะประกอบอาชีพบริการ ต้องมีความชอบเป็นการส่วนตัวและมีใบประกอบวิชาชีพ
ปัจจุบันความต้องการของผู้ใช้บริการมีเยอะมาก มีหลากหลายตัวเลือก แต่หลากหลายตัวเลือกนี้ไม่ได้เป็นการแข่งขันในเชิงคุณภาพ แต่เป็นการแข่งขันในเชิงปริมาณ ในเรื่องการบริการในประเทศไทยเป็นในลักษณะปริมาณมากกว่าพอสมควร แต่เรื่องการแข่งขันเชิงคุณภาพค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบกับต่างประเทศ การเปิดธุรกิจดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ต้องดูกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นกลุ่มไหน เพราะผู้สูงอายุไม่ได้ความว่าคนแก่หรือคนป่วย
ผู้สูงอายุแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน เริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปี เป็นกลุ่มที่มีอายุ แต่ยังแข็งแรงอยู่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะเป็นลักษณะของอาหารเสริม ที่บำรุงร่างกาย ต่อมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย อายุประมาณ 70-80 ปี ต้องการคนมาคอยดูแล ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีจำนวนค่อนข้างเยอะ เพราะสังคมไทยเน้นรักษา มากกว่าป้องกัน พอถึงเวลาป่วยขึ้นมาจึงค่อยมาหาวิธีรักษา ทำอย่างไรให้หายป่วย ซึ่งต้องมองหาสถานบริหารดูแลรักษา เพื่อให้มีคนมาดูแล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละที่ว่าจะมีการบริการได้ดีในระดับไหน เกิดความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
สำหรับการแข่งขันในธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องสร้างจุดเด่น หาจุดต่างของตนเองให้เจอ วิธีที่ใช้ได้คือการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศว่ามีบริการอย่างไร นอกจากนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นรัฐสวัสดิการ การแข่งขันระหว่างเอกชนกับรัฐบาลมีความใกล้เคียงกัน แต่ของประเทศไทยรัฐสวัสดิการแทบน้อยมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีของภาคธุรกิจเอกชนที่จะเกิดขึ้น แต่การแข่งขันในภาคเอกชนตอนนี้ ยังมองไม่เห็นถึงความแตกต่างเท่าไร ซึ่งอย่างที่บอกไปข้างต้น พยายามหาจุดต่าง เพื่อสร้างจุดขายเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ใช้บริการ
ด้านแนวโน้มของธุรกิจการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในปัจจุบันและอีก 5 ปี ข้างหน้า โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นจะทำให้ภาคธุรกิจมีความตื่นตัว เนื่องจากรัฐสวัสดิการดูแลไม่ทั่วถึง ในกลุ่มคนที่รัก มีความชอบในบริการเหล่านี้ เริ่มจัดตั้งธุรกิจขึ้นมา ผู้ประกอบการหลายรายมีความสนใจ เพราะมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจบริการด้านนี้ โดยตลาดในประเทศแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนรัฐสวัสดิการ ซึ่งภาครัฐยังให้บริการไม่ครบถ้วนทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นช่องทางหนึ่งในการทำธุรกิจการบริการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถเติบโตได้อีกเยอะ ในการเติบโตต้องลงในรายละเอียดแบ่งเป็นการเติบโตในเชิงปริมาณ และการเติบโตในเชิงคุณภาพ
By : อนิรุทธิ์ จารึกธรรม