“Go Green” หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ทำออกมาเพื่อตระหนักให้เห็นถึงสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยในประเทศไทยองค์กรที่นำโครงการ Go Green มาใช้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) สำหรับต่างประเทศ
รัฐบาลจีน ได้เริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ทำให้ชาวจีนในปัจจุบันตื่นเต้นกับกระแส Go Green จนส่งผลให้กลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียว จนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับออแกนิคนั้นเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งปัญหาที่ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มประกาศนโยบายดังกล่าวออกมานั้นเป็นเพราะในปัจจุบันสภาพอากาศของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในขั้นเขตพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเมื่อเข้าเดือนสิบ หมอกควันพิษก็จะเริ่มคุกคามกรุงปักกิ่งจนกลายเป็น “เมืองหมอกพิษ” แม้ทางการจะออกมาตรการประกาศต้องยกระดับการเตือนภัยให้สูงขึ้นจากระดับสีเหลือง (ระดับกลางของระบบการเตือนภัยมลพิษทางอากาศ) ไปเป็นระดับสีส้ม (มีอันตรายต่อสุขภาพ) ก่อนที่อุณหภูมิจะเย็นลงจนกลุ่มหมอกควันพิษค่อย ๆ สลายตัวลง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งว่าเหตุใดจึงไม่ประกาศมาตรการเตือนภัยมลภาวะทางอากาศในระดับสูงสุดเป็นสีแดง เพื่อปกป้องเด็ก ๆ ซึ่งเปราะบางต่อมลภาวะทางอากาศ เนื่องจากมาตรการเตือนภัยระดับนี้จะทำให้ต้องปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราวโดยปริยาย รวมไปถึงการปิดถนนหลายสายเกือบครึ่งของเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบเตือนภัยมลภาวะทางอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ปักกิ่งยังไม่เคยใช้การเตือนภัยในระดับสีแดงมาก่อน ดัชนีคุณภาพอากาศสูงเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เกินระดับ 300 และฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่เป็นอันตรายต่อปอดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลกระบุไว้ว่าปลอดภัยถึง 18 เท่า
นอกจากนี้ สภาพอากาศในจีนยังส่งผลอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่เริ่มป่วยเป็นโรคผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกยืนยันว่าตัวการใหญ่ของมลภาวะทางอากาศมาจากการปล่อยไอเสียจากยานพาหนะและจากโรงงาน รวมถึงจากอาคารบ้านเรือน ซึ่งหลายพื้นที่ยังคงใช้ถ่านหินและฟืน อันเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดเขม่าละอองพิษสูง เป็นหลักในการปรุงอาหารหรือสร้างความอบอุ่นในบ้าน ในประเทศอื่น ๆ ของโลกก่อนออกจากบ้านทุกคนอาจจะต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน แต่สำหรับประเทศจีนนั้นประชาชนต้องตรวจสอบมลภาวะทางอากาศ ซึ่งทุกวันนี้เมืองใหญ่ในเมืองจีนมีวันที่สภาพอากาศเลวร้ายเกินกว่าจะพาเด็กๆ ออกไปเดินเล่นนอกบ้านได้เกินกว่าครึ่งปี จากการเก็บสถิติในปี 2557 พบว่าปักกิ่งมีวันที่สภาพอากาศเลวร้าย 175 วัน เทียนจิน 197 วัน ฉีเจียฉวง 264 วัน เสิ่นหยาง 154 วัน เฉิงตู 125 วัน และหลานโจว 112 วัน สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลจีน และประชาชนชาวจีนเริ่มตื่นตัวจากโรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน จนถึงกับตระหนักถึงความต้องการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2015 ที่ผ่านมาตลาดสินค้าออแกนิคของจีนมีมูลค่าสูงถึงราว 6 หมื่นล้านหยวน สินค้าออร์แกนิกมีอัตราการเติบโตร้อยละ 30 ต่อปี Global Business and Technology Association ทำการวิจัยจากกลุ่มผู้บริโภคสินค้าออแกนิคชาวจีนในกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้พบว่า ร้อยละ 98 มีการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ร้อยละ 71 ของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวไม่ลังเลที่จะซื้อสินค้าออร์แกนิคที่มีราคาสูง และผู้บริโภคร้อยละ 74.5 นิยมเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิคในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ 5 ปัจจัยหลัก ที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าออร์แกนิคของผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ความเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพคุณภาพสินค้าในภาพรวม (Overall Quality)ใบรับรองคุณภาพสินค้าออร์แกนิคความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) และข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ
สำหรับสินค้าออร์แกนิคในจีนมีจุดอ่อนในด้านความปลอดภัยของอาหารทำให้สินค้าดังกล่าวของจีนไม่ได้รับความนิยมในตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งแหล่งนำเข้าหลักคือประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป และญี่ปุ่น สินค้าที่นิยมนำเข้ามาจำหน่ายมากในจีน ได้แก่ผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิค และ เนื้อสัตว์ ทั้งนี้สินค้าออร์แกนิคจากต่างประเทศที่จะนำเข้ามาจัดจำหน่ายในจีนจะต้องได้รับการติดฉลากออร์แกนิคใหม่ เนื่องจากกฎหมายจีนไม่รับรองฉลากออร์แกนิคจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ EU organic หรือ USDA organic seal
By : กุลจิรา มุทขอนแก่น รูปภาพจาก NY Times