นายก สั่งสสว.-คลังเร่งกำหนดแผนช่วย SME


นายก สั่งสสว.-คลังเร่งกำหนดแผนช่วย SME

นายก สั่งสสว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งกำหนดแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ชัดเจนในปี 59 – 60 ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว หลังพบเอสเอ็มอีบางรายไม่ได้รับทราบแนวทางการส่งเสริมจากภาครัฐ จนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสสว.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งกำหนดเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจนในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เร่งด่วนในปี 59 – 60 ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว เพราะปัจจุบันแผนงานส่งเสริมยังคงกระจัดกระจาย และไม่ได้เกิดการบูรณาการที่แท้จริง ซึ่งอาจทำให้เอสเอ็มอีบางรายไม่ได้รับทราบแนวทางการส่งเสริมจากภาครัฐ จนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้

อย่างไรก็ตามในแนวทางการช่วยเหลือนั้น นายกฯ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจัดทำรายละเอียด เพียงแต่ขอให้ไปหารือกันและสรุปแผนออกมาให้รวดเร็วที่สุด เพราะการส่งเสริมเอสเอ็มอีถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะส่งเสริม ให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ประกอบกิจการได้ด้วยความสะดวกมีรายได้ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยให้ จัดทำเป็นแผนเร่งด่วนที่ต้องทำช่วง 1-2 ปีนี้ก่อน

ส่วนที่เหลือก็ ให้พิจารณาทำแผนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 60 – 61 ซึ่งกำหนดแนวทางในการส่งเสริมเอสเอ็มอีด้วยการยกระดับให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดแผนดังกล่าวสำนักงานคณะ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. กำลังสรุปรายละเอียดของแผนฯ 12 หลังระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนฯ มาแล้วหลายภาคส่วน จากนั้นจึงเตรียมที่จะเสนอให้คณะกรรมการสศช. เห็นชอบ ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 เป็นต้นไป

สำหรับมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการในระยะเร่งด่วนมาช่วยเหลือไปแล้ว โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีระยะเร่งด่วน วงเงิน 271,000 ล้านบาท ผ่าน 6 มาตรการย่อย คือ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี วงเงิน 150,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อพีจีเอส ระยะที่ 5 วงเงิน 100,000 ล้านบาท มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านการร่วมทุน วงเงิน 6,000 ล้านบาท มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ และมาตรการสินเชื่อด้านนโยบาย ที่รัฐจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอี

นอกจากนี้นายกฯ ยังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการหาทางส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้ต้องขังที่ได้มาตรฐานตามแนวทางนายกฯ เคยมอบนโยบายได้มีข้อสั่งการไปในช่วงที่ผ่านมา