SIPA ผนึก 43 สถาบันเร่งปั้นกำลังคนรับ ยุคดิจิตอล


SIPA ผนึก 43 สถาบันเร่งปั้นกำลังคนรับ ยุคดิจิตอลฟ

SIPA จับมือสถาบันการศึกษา 43 แห่ง หวังเร่งพัฒนากำลังคนดิจิตอล ขึ้นมารองรับการทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิตอล

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (SIPA Tech Startup Club) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กับสถาบันการศึกษาจำนวน 43 แห่งทั่วประเทศ ว่า ภารกิจการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจดิจิตอลต้องดำเนินการในทุกยุทธศาสตร์ไปพร้อมกัน ปัจจัยสำคัญที่ต้องเน้นคือการพัฒนากำลังคนในการสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิตอลในบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ให้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในระดับมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือการพัฒนากำลังคนดิจิตอล ขึ้นมารองรับการทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิตอล โดยเน้นกลุ่มคนทำงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภาพการผลิต ในระบบเศรษฐกิจ และกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอล รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลของภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบุคลากรผู้ทำงานทุกสาขามีความรู้และทักษะด้านดิจิตอล โดยเฉพาะการสร้างกลุ่มคนทำงานให้มีคุณภาพในการสร้างนวัตกรรม เพื่อเกิดการจ้างงานแบบใหม่ อาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ จะทำให้เกิดบุคลากรด้านธุรกิจนวัตกรรมใหม่ หรือ ดิจิตอล สตาร์ทอัพ ที่มีความสามารถสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมเป็นการพลิกแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ สู่ธุรกิจรูปแบบใหม่บนนวัตกรรมสร้างสรรค์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคน หรือนักรบดิจิตอล ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ต้องสนับสนุนในการฝึกฝนฝีมือสร้างความแข็งแกร่งอย่างเร่งด่วน ซึ่งสถาบันหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในส่วนนี้ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ก็คือสถาบันการศึกษา ดังนั้น การที่ซิป้าส่งเสริมให้มี ดิจิตอล สตาร์ทอัพ ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายที่ใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจตั้งแต่รากฐาน จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผนวกกับความรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญภายนอกจะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้มีการพัฒนาตนเองได้รอบด้าน