เวลาที่ผมไปพูดเรื่องนวัตกรรม Startup หรือการเปลี่ยนความคิดเป็นธุรกิจให้กลุ่มชุมชนท้องถิ่น OTOP นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย ผู้ประกอบการ SME ผมมักเจอคำถามทั้งทางหน้าไมค์และหลังไมค์ที่หลากหลาย – บางคำถามเป็นประเด็นร้อน บางคำถามต้องรีบตอบทันที บางคำถามต้องไปหาคำตอบ และนี่คือ 10 อันดับคำถามยอดฮิตจากผู้ประกอบการที่กำลังทำธุรกิจ คนอยากทำธุรกิจ คนที่เคยเจ๊งจากการทำธุรกิจ และคนที่อยากรวยๆๆ จากการทำธุรกิจ
ผมรวบรวมมาให้ดูครับ
อันดับ 10 จะปรับสินค้าหรือบริการให้ขายได้แพงขึ้นต้องทำยังงัย (คนทำธุรกิจอยากเพิ่มรายได้)
อันดับ 9 ต้องการให้คนเข้าร้านเยอะๆ ซื้อของเยอะๆ มีสาขาเยอะๆ ทำยังงัย อยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำยังงัย (คนทำธุรกิจคิดการใหญ่)
อันดับ 8 ไม่ได้จบบริหาร ไม่มีความรู้ด้านธุรกิจ ทำแผนธุรกิจไม่เป็น ไม่เคยเรียนมาจะทำยังงัย ไม่เคยทำธุรกิจจะทำได้มั้ย (คนไม่เคยแต่อยากทำธุรกิจ)
อันดับ 7 การทำธุรกิจจะเริ่มต้นตรงไหน ยังงัย (คนอยากเริ่มทำธุรกิจ)
อันดับ 6 มีเงินแต่ไม่รู้จะทำอะไรดี ช่วยหาสินค้าหรือธุรกิจให้หน่อย (คนมีเงินอยากทำธุรกิจ)
อันดับ 5 ไม่มีเงินทุนจะทำยังงัยดี จะหาเงินทุนได้จากไหนบ้าง อาจารย์มีแหล่งเงินทุนหรือเปล่า วิธีการกู้แบงก์ต้องทำยังงัย (คนไม่มีเงินอยากทำธุรกิจ)
อันดับ 4 เจอคู่แข่งตัดราคา เจอรายใหญ่เข้ามาในพื้นที่ ยอดขายตกต้องทำยังงัย (คนทำธุรกิจเจอมรสุม)
อันดับ 3 ทำธุรกิจนี้ดีมั้ย ทำธุรกิจนี้แล้วจะเจ๊งมั้ย ทำธุรกิจนี้แล้วจะรวยมั้ย ขายสินค้าตัวนี้ดีมั้ย (คนมีไอเดียแต่ยังไม่แน่ใจ)
อันดับ 2 ทำยังงัยให้รวย ทำธุรกิจให้ไม่ขาดทุนได้มั้ย อยากลงทุนน้อยๆ ได้กำไรเยอะๆ ทำยังงัย (คนอยากรวย)
อันดับ 1 ตอนนี้ทำธุรกิจอะไรดี จังหวัดนี้ อำเภอนี้ควรทำธุรกิจอะไรดี (คนมีความอยากแต่ยังไม่รู้จะทำอะไร)
บางคำถาม พอคนถามถามเสร็จ ผมแทบจะตอบว่า “ผมไม่ใช่หมอดู!!!” ผมตอบไม่ได้จริงๆ ว่ามันจะเจ๊งมั้ย มันจะรวยมั้ย
ถ้าผมจะตอบได้มันต้องมีข้อมูลมากกว่านั้น ไม่ใช่อยู่ๆ มาถามผมว่าจะเจ๊งมั้ย จะรวยมั้ย ผมต้องรู้มาก่อนว่า คุณเป็นใคร ธุรกิจตั้งอยู่ที่ไหน มีคู่แข่งหรือเปล่า ใครคือคู่แข่งคุณ แล้วสิ นค้าบริการคุณเป็นยังงัย ราคาเท่าไหร่ แหล่งเงินทุนคุณมาจากไหน … มันมีคำถามที่ผมต้องถามคุณก่อนจะตอบได้ว่า ธุรกิจนี้จะเป็นยังงัยต่อไป
เอาละครับ … บางคำถามอาจตรงกับสิ่งที่คุณกำลังคิดอยู่
สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า คำถามนั้นคืออะไร แต่มันคือคำตอบว่าจะทำอย่างไรต่างหาก
เมื่อแบ่งหมวดหมู่ของคำถามจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
*** คนที่ยังไม่มีไอเดียอะไรเลย มาเป็นศูนย์ มาตามหาเอาข้างหน้า อยากหนีจากชีวิตมนุษย์เงินเดือน งานประจำอันแสนน่าเบื่อ
*** คนที่มีไอเดีย แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ กำลังหาหนทาง มาพร้อมกับไอเดียมากมาย ความอยาก อยากรวย อยากทำ อยากตามหาความฝัน
*** และคนที่ยังไม่กล้าลงมือทำ มาพร้อมกับความฝันบ้าง ความจริงบ้าง อยากรวยบ้าง อยากหนีจากวงจรชีวิตเดิมๆ
ลองถามตัวเองดูครับว่าคำถามกลุ่มไหนแก้ยากที่สุด
.
.
.
บางคนบอกไม่มีไอเดียยากสุด เพราะมีแต่ความว่างเปล่า
ถามผม คำถามที่ผมเจอแล้วแก้ให้ยากที่สุด ตอบโดยไม่ต้องคิดเลยครับว่า ไม่กล้าลงมือทำ แก้ยากสุด การไม่รู้กับการไม่มี ถ้าคุณรู้กับคุณมี คุณก็สามารถลงมือทำได้ แต่การไม่กล้านี่แก้ยากมากครับ ต่อให้คุณมีเงินมากๆ มีไอเดียดีๆ รู้ว่าจะเริ่มต้นและลงมือทำอย่างไร ยังงัยคุณก็ไม่กล้าลงมือทำอยู่ดี
ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพซักหนึ่งตัวอย่างหนึ่ง
เมื่อปีก่อน ผมได้คุยกับผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ต้องการหลีกหนีจากภาวะการแข่งขันรุนแรงในธุรกิจดั้งเดิมที่ตั้งมามากกว่า 40 ปี ตั้งแต่สมัยพ่อแม่ยังสาว และต้องการสร้างธุรกิจ Startup ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมมาใช้แพลตฟอร์มหรือโมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่โดยอาศัยความชำนาญต่อยอดจากธุรกิจเดิม
ผู้ประกอบการรายนี้มีความรู้ในธุรกิจที่ทำดี มีฐานลูกค้าในมือพอสมควร รู้จักซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เรียกว่า ถามอะไรตอบได้ เพราะฉะนั้นความรู้ในธุรกิจคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่
ผู้ประกอบการรายนี้ไม่ใช่เด็กใหม่ในวงการ มีประสบการณ์การทำธุรกิจมามากพอสมควร เรียกได้ว่า ช่ำชองเลยทีเดียว มีความฝันและความอยากอยู่เต็มเปี่ยม อยากสร้างธุรกิจใหม่ที่ก้าวกระโดด อยากก้าวไปสู่ช่องว่างธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยทำ อยากหลีกหนีจากการฟาดฟันราคาจนเลือดสาด
แล้วปัญหาอยู่ที่ไหนล่ะ
ไม่ใช่เรื่องเงิน!!! เพราะทำธุรกิจมามากกว่า 40 ปี คงพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ถ้าไม่มีก็สามารถกู้เงินแบงก์ได้ไม่ยาก
อ้าว… ในเมื่อ มีเงิน มีความรู้ อยู่แล้วจะกลัวอะไร (บางคนคิดในใจ)
นั่นน่ะสิครับ แล้วจะกลัวอะไรล่ะ
ปัญหาคือ เค้าไม่แน่ใจว่า การทำธุรกิจใหม่นี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะรูปแบบธุรกิจของ Startup มันยัง งงๆ มึนๆ มีโอกาสเสี่ยงสูง (อันนี้เป็นธรรมชาติของความเป็นธุรกิจประเภทที่เรียกว่า Startup) ถามพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ไม่มีใครเห็นด้วยซักคน เพราะอะไรครับ เพราะไม่มีใครเคยทำมาก่อน ไม่มีใครมั่นใจในธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ ลงทุนไปก็ยังมองไม่เห็นวิธีการที่จะได้เงินกลับมา
เอาล่ะ… เราจะปิดช่องว่างของปัญหานั้น
เราเริ่มต้นศึกษา เรียกคนเขียนโปรแกรมมาคุย เรียกทุกคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่นี้มาคุย
บางคนเห็นด้วย บางคนไม่เห็นด้วย
*** ธุรกิจนี้เสี่ยง คนไทยยังไม่คุ้นเคย ลูกค้าจะใช้เหรอ ไม่น่าทำ!!!
*** ธุรกิจแบบนี้ยังไม่มีในประเทศไทย น่าทำ!!!
ความคิดเห็นหลากหลาย แต่ก็มีบางคนถึงขนาดจะขอร่วมลงทุนด้วย เพราะเห็นโอกาสและอยากเกาะรถไฟขบวนนี้ไปด้วย
เราใช้เวลาศึกษา ถามผู้รู้ หาเพื่อน เขียนแผนธุรกิจออกมา ในความเป็นจริง การทำ Startup แผนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ต้องมีธงให้เห็นชัดเจนว่าจะทำอะไร จะแตกต่างจากธุรกิจแบบดั้งเดิมอย่างมาก (ใครสนใจเรื่อง Startup ลองไปหาบทความเก่าๆ ของผมอ่านดูได้ครับ)
เมื่อศึกษาเสร็จ เรามีความพร้อมมาก ทั้งตัวผมเอง ทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งคนเขียนโปรแกรม ทั้งพนักงานชุดเริ่มต้น ทั้งออฟฟิตเช่าชั่วคราวเล็กๆ ทั้งเงินลงทุนก้อนแรก เรียกได้ว่า ถ้าเริ่ม Start เราสามารถวิ่ง 100 เมตรภายในเวลาต่ำกว่า 10 วินาทีได้เลย อันนี้เปรียบเปรยว่า เราพร้อมมาก!!!
หลังจากวันนั้น ผู้ประกอบการรายนี้ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน ในการคิด คุย อ่าน
…และโปรเจคนี้ก็ล่มครับ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เรือล่มปากอ่าว คือยังไม่ได้นับ 1 โปรเจคก็ล้มซะแล้ว
คนที่อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากเป็น Startup ยิ่งเป็นคนที่ทำงานประจำด้วยแล้ว อาจไม่เข้าใจความรู้สึกนี้มากนัก
แต่สำหรับคนที่กำลังเป็นผู้ประกอบการ SME หรือ Startup อยู่คงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ปัญหามันอยู่ที่ว่า คุณรู้ว่า ควรจะทำอะไรแล้ว มีเงินทุนแล้ว มีความอยากแล้ว สิ่งเดียวที่รั้งคุณไว้ คือ ความคิด ความกล้าของตัวคุณเอง แค่นั้นแหละครับ
การเริ่มต้นธุรกิจจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย มันเป็นเส้นบางๆ ระหว่างทำกับไม่ทำ เป็นแค่การกระโดดข้ามเชือกหนังยางเล็กๆ จะกระโดดหรือไม่กระโดด กระโดดก็เจอความลำบากกับความสุข ไม่กระโดดก็ไม่มีอะไรแย่กว่าเดิม
คนส่วนใหญ่อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากเหนื่อย ไม่กล้าทำ ไม่ลงมือทำ เพราะเหตุผลมากมาย
ความยิ่งใหญ่ของการเป็น Startup หรือผู้ประกอบการ คือ การมีหัวใจแห่งความเป็นผู้ประกอบการ หรือฝรั่งเรียกว่า Entrepreneurship Mindset
หัวใจนี้มีหลักการสำคัญข้อหนึ่งคือ คุณกล้าเสี่ยงขนาดไหน กล้าลงมือทำแค่ไหน และเมื่อถึงเวลา คุณต้องลงมือทำทันที!!!
เมื่อคุณลงมือทำ คุณจะประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งมันขึ้นอยู่กับว่า สิ่งที่คุณศึกษามามันดีพอหรือยัง คุณมีความอดทนมากพอหรือเปล่า และคุณรักมัน (ธุรกิจที่คุณทำ) แค่ไหน
ผมมักจะพูดกับคนใกล้ตัวเสมอว่า คนเราเกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียว หากอยากทำอะไร แล้วไม่ลำบากคนอื่น ให้ทำไปให้สุด เพื่อเมื่อถึงเวลาคุณจะได้ไม่เสียใจภายหลัง ลองคิดดูนะครับ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีฝัน ความฝันสวยงามเสมอ และความฝันที่สวยงามมักต้องอาศัยการลงมือทำ…สวัสดี
ดร.พยัต วุฒิรงค์
นักบริหารจัดการนวัตกรรมและสร้างคุณค่าแถวหน้าของเมืองไทย มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แต่หันมาเอาดีด้านการตลาด การบริหารคน และการบริหารจัดการนวัตกรรม เพราะมองว่ามีความท้าทายและมีความสุขมากกว่า สั่งสมประสบการณ์จากองค์กรอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมและการบริหารคนของไทยเกือบ 20 ปี จากนั้นลาออกมาช่วยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ในหลากหลายศาสตร์จาก “หิ้งสู่ห้าง” สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีอยู่ และพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ชอบพูดคุยกับผู้รู้ CEO องค์กรต่างๆ ชอบเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และวัตถุดิบมาต่อยอดความรู้และถ่ายทอดสู่สังคม