ผู้นำกับสุขภาพ : อาจารย์สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์


โดย  อาจารย์สุรวัฒน์  ชมภูพงษ์

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“ต่อให้เป็นผู้นำเก่งกาจขนาดไหน  สุขภาพไปไม่ไหวทุกอย่างก็จบ”

ถ้าพูดถึงการเป็นผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน  หรือ ผู้นำใด ๆ ก็แล้วแต่ คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงแต่เรื่องการทำงาน วิสัยทัศน์ ทัศนคติ หรือคุณงามความดีต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถที่ผู้นำจะนำเอาออกมาใช้ในการบริหารงาน แต่เบื้องหลังของความสำเร็จของผู้บริหารที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ปัญหาสุขภาพครับ  สุขภาพในที่นี้หมายความรวมถึง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ผู้นำบางท่านสุขภาพกายก็ดูแข็งแรงดีแต่สุขภาพหรือภาวะทางจิตบางทีถึงขั้นย่ำแย่ เพราะเกิดจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ  หรือเมื่อมีเรื่องจุกจิกกวนใจแล้วไม่สามารถบริหารจัดการให้ได้อย่างลงตัว และถ้าหากผู้นำนั้นมีปัญหาทางสังคมกับผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือแม้กระทั่งปัญหากับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เข้ามาสมทบด้วยอีก ร่างกายที่แข็งแรงก็อาจจะบอบช้ำไปได้  แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้นำนั้นมีสุขภาวะทางจิตดี  ถึงแม้ร่างกายอาจตกบกพร่องไปบ้าง มีอาการป่วยไข้บ้างก็น่าจะยังสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ดีกว่าผู้นำที่สุขภาพจิตเสีย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต  ผู้นำที่มีความรอบคอบก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเพราะมิใช่จะมีผลต่อตนเองเท่านั้น  ยังมีผลต่อการคิด การตัดสินใจในการดำเนินงานขององค์กร อันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้  ผู้นำในหลาย ๆ ประเทศจึงพยายามออกสื่อหรือแสดงตัวว่าตนเองยังเข้มแข็ง  มีสุขภาพดีพร้อมที่จะทำงานได้  ทั้ง ๆ ที่บางครั้งผู้นำนั้นอาจจะอายุมากแล้ว เพราะหลายครั้งปัญหาสุขภาพอาจจะไม่เกี่ยวกับอายุโดยตรงก็ได้  ถ้ามีการดูแลอย่างดีตั้งแต่เริ่มต้น

ที่ผมสาธยายเรื่องปัญหาสุขภาพมาซะยืดยาวเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าต่อให้ท่านผู้นำจะเก่งกาจสักแค่ไหน  แต่ถ้าสุขภาพไปไม่ไหวทุกอย่างก็จบจริง ๆ  ดังที่กล่าวจั่วหัวไว้ข้างต้นนะครับ เป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ว่า ร่างกายของมนุษย์เราทุกคนจะเสื่อมไปตามกาลเวลา ซึ่งเรื่องนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แต่เราก็คงไม่ปฏิเสธเช่นเดียวกันว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่แม้เวลาจะผ่านพ้นไปแต่ยังคงดูสดใสและนำสติปัญญาความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมานั้นมาใช้อย่างเป็นประโยชน์กับการทำงานควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกายและใจอย่างดี และนี่คือความชาญฉลาดของมนุษย์หรือท่าจะว่าอีกนัยหนึ่ง  หากเราเป็นคนเก่ง  คนฉลาดทำงานได้ดีเลอเลิศ แต่ขาดความเฉลียวที่จะดูแลตนเองตามห้วงเวลาของวัยและชีวิต   ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไปทั้ง ๆ ที่อาจยังไม่ใช่วัยที่สมควร  ดังนั้นผู้นำที่ความฉลาดและเฉลียวจึงต้องใส่ใจเรื่องปัญหาสุขภาพโดยดูแลทั้งทางด้านการป้องกันและการแก้ไขปัญหา เมื่อมีโรคภัยมาเยือนเราคงไม่ปล่อยให้ชีวิตเราเกิดมาเรียน  เรียนและเรียน แล้วก็ทำงาน  ทำงาน ทำงาน และตายจากโลกนี้ไป โดยไม่ได้พบสุนทรียรสแห่งชีวิตเพราะมันจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ๆ ครับ   ขอทุกท่านจงทราบไว้เถิดว่า “ทุกเช้าที่ท่านเห็นพระอาทิตย์ขึ้น เวลาที่ท่านจะอยู่บนโลกใบนี้กำลังจะลดลงไปอีกหนึ่งวัน”  ดังนั้น จงทำทุกวันให้มีคุณค่าและรักษาวันเวลาแห่งชีวิตไว้ให้ยาวนานที่สุดด้วยการรักษาสุขภาพกายและจิตใจให้ดีงาม

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจในวันนี้คือ

  • หมั่นตรวจสอบดูอารมณ์และความคิด จิตใจ ของเราว่าปลอดโปร่ง เศร้าหมอง หรือพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน เพราะความคิดจะทำให้เกิดการกระทำและการกระทำก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพที่ดีหรือไม่ดีของคนเรา ท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนเราจะดีต้องดีจากภายใน” (ตามที่หมอเส็งได้กล่าวไว้ในโฆษณายาว่านชักมดลูกของท่านไงครับ จำกันได้มั้ย?)
  • หมั่นตรวจร่างกายโดยให้แพทย์ตรวจดูถึงความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปหรือโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะมาเยือนโดยไม่บอกกล่าว การได้ตรวจดูและรู้แต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การบำบัดและการรักษาง่ายขึ้นนะครับ ร่างกายบางส่วนอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวัยและอายุการใช้งาน เราจึงควรทำใจรับสภาพไว้ด้วยว่าจะให้เหมือนตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ดูแลร่างกายอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะร่างกายต้องอยู่กับเราไปจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
  • ฝึกการมองโลกในแง่ดีหรือในแง่บวก (Positive Thinking) การมองโลกในแง่บวก ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างต้องดีเลอเลิศไปหมด แต่หมายความว่ายอมรับได้แม้มันจะไม่ดี  แล้วทำอะไรให้ดีขึ้นได้ก็ทำต่อไป  ในหลักทางศาสนาสอนว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป”  การมองโลกใน    แง่บวกไม่ได้หมายความว่าถ้าไฟไหม้ที่ทำงานเราเลยคิดว่าเกิดไฟไหม้ขึ้น  ลุกโชติช่วงอยู่  แล้วเดี๋ยวก็คงจะดับเอง โดยไม่ต้องทำอะไร คงไม่น่าจะหมายความเช่นนั้นนะครับ  เราทำอะไรให้ดีได้จึงต้องรีบทำ
  • หันไปหาเพื่อนครับ โดยเฉพาะเพื่อนเก่า ๆ ที่เติบโตหรือเรียนหนังสือมาด้วยกัน หรือเป็นคนที่มาจากจังหวัดเดียวกัน เพราะเพื่อนดี ๆ มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินบนโลก รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ  หรือเคยล้อชื่อพ่อชื่อแม่ กันตอนเด็ก ๆ มันช่างเป็นอะไรที่คิดถึงแล้วต้องนั่งอมยิ้ม ความสนุกสนาน  ความจริงใจเช่นนี้จะทำให้เรามี “ภาวะจิต” ที่ดีและกระชุ่มกระชวย นะครับ
  • หมั่นทำบุญทำทาน สร้างกุศลกรรม รู้จักการให้  รู้จักการปล่อยวางบ้าง  จะทำให้ชีวิตเรา “เต็ม” ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์  หากท่านสามารถดูแลตัวเองได้และดูแลครอบครัวตัวเองได้แล้วก็โปรดยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา  คนเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือและแม้กระทั่งกำลังใจที่มีให้แก่พวกเขา สิ่งเหล่านี้ผมมีความเชื่อว่าจะทำให้ใจเรามีความสุขและความสุขเหล่านี้จะกระจายไปสู่คนรอบข้าง  เพื่อนร่วมงานหรือผู้ที่ใกล้ชิดจะสามารถ  รับรู้ได้  ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าบางท่านอ่านแล้วมองภาพออกหรือเห็นภาพ แต่บางท่านอาจจะมองภาพไม่ออกหรือทำอย่างไรก็ไม่เห็น  เผลอ ๆ อาจจะคิดว่าผม “เพ้อ” หรือเขียนแบบ “อุดมการณ์” เกินไปก็ได้  เราไม่ว่ากันครับ แต่อยากให้ลองเอาไปคิด เอาไปประพฤติปฏิบัติดูแล้วถ้าวันไหนเห็นผลค่อยมาเล่าสู่กันฟังก็ได้นะครับ ขอให้เชื่อผมเถอะนะว่า  ผู้นำที่ดีนั้นต้องมีความพร้อมหลายประการที่เราเล่าเรียนและทำงานกันมาแต่ที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ปัญหาสุขภาพของเราเองนั่นแหละครับที่จะบั่นทอนทุกสิ่งไปได้หมด ฉะนั้นวันนี้จงเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าแล้วกลับมามองปัญหาสุขภาพของตนเอง

ผมจะดีใจที่สุดที่เห็นผู้นำทุกองค์กรมีสุขภาพแข็งแรงครับ

……………………….