ทีดีอาร์ไอ แนะเพิ่มมูลค่าการผลิต ฝ่าวิกฤตส่งออก


ทีดีอาร์ไอ แนะเพิ่มมูลค่าการผลิต ฝ่าวิกฤตส่งออก

ทีดีอาร์ไอ เผยไทย กำลังเผชิญวิกฤตอย่างน้อย 3 ด้าน แนะภาครัฐปรับบทบาทหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เอกชน และให้ความสำคัญกับมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ส่งออก

นายฉัตร คำแสง นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงการศึกษาการสร้างความเข้มแข็งทางการค้าของไทย ในด้านการส่งออก โดยระบุว่า สถานการณ์ส่งออกของไทยขณะนี้ กำลังเผชิญวิกฤตอย่างน้อย 3 ด้าน ด้านแรกคือ การส่งออกสินค้าของประเทศไทยติดลบ 3 ปีซ้อน และมูลค่าในการส่งออกในแต่ละปีที่ตกต่ำลง ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้เร็วๆนี้

ขณะที่ด้านที่สอง คือ ทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ เริ่มย้ายและขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้ง อาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ตลอดจนยานยนต์ รวมถึงประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ทักษะ ทั้งในมิติคุณภาพและปริมาณ อันเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญคือ ไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้นักลงทุนคิดหนักว่า จะลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นดีหรือไม่

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกในระยะหลัง บ่งชี้ว่าสินค้าที่ไทยเคยส่งออกได้สูงมักเป็นสินค้าที่เริ่มอิ่มตัวในตลาดโลก หรือไม่ก็ถูกประเทศอื่นแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป ในขณะที่สินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดโลก เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม ประเทศไทยกลับมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าน้อยและตามประเทศอื่นไม่ทัน

ทั้งนี้  นายฉัตร ระบุว่า การเดินหน้ายุทธศาสตร์ ผลักดันไทยเป็นชาติการค้า ครั้งนี้ มาจากผู้รับผิดชอบด้านนโยบายการค้าของประเทศโดยตรงคือ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของนโยบายดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็จะต้องปรับบทบาทหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เอกชน พร้อมทั้งดูแลมาตรฐานการทำธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะการผ่อนคลายกฎในการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีในประเทศไทย และการกำหนดมาตรฐานสินค้าให้เท่าเทียมกันสำหรับสินค้าขายในประเทศและสินค้าที่มีการนำเข้าส่งออก เพื่อให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไม่มีช่องทางในการระบายสินค้า

ที่สำคัญ ประเทศไทยจะต้องเลิกทัศนคติการขายสินค้าแบบเน้นปริมาณ แต่ต้องหันหลับมาดูและให้ความสำคัญกับมูลค่าเพิ่มว่าสินค้าที่ส่งออกไปนั้น สร้างคุณค่าให้แก่ผู้ซื้อได้มากขนาดไหน และในฐานะผู้ขายจะสามารถเก็บมูลค่าเพิ่มเหล่านั้นไว้ได้มากเพียงใดมากกว่า