“อรรชกา” วางแนวทางยกระดับอุตฯอาหารรับ 4.0


“อรรชกา” วางแนวทางยกระดับอุตฯอาหารรับ 4.0

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม เผยแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย จะยกระดับทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และมาตรฐาน ชี้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ มีมูลค่าการผลิตกว่า 1.64 ล้านล้านบาท

นางอรรชกา  สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิดงาน “Authentic Thai Food for the World” ที่จัดโดยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าการผลิต 1.64 ล้านล้านบาท สําหรับตลาดโลก ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิอันดับที่ 5 ของโลก มีผู้ประกอบการทั้งสิ้น 110,000 ราย  ทั้งนี้โครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร มีการใช้วัตถุดิบที่มาจากภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของต้นทุนการผลิตรวม

สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยต่อไปในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการส่งออก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทหลักในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารให้มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก รวมทั้งการยกระดับผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร

นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมพร้อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 การยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาอาหารไทย  การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ และการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก

ทางด้านนายยงวุฒิ  เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางสถาบันอาหารจะเน้นส่งเสริมภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยมีเป้าหมายยกระดับผู้ประกอบการให้ได้ 500 รายต่อปีในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตเมนูอาหารแปรรูปให้มีรสไทยแท้ตามมาตรฐานที่กำหนด

ขณะที่ส่วนในภาคการบริการ เป็นการส่งเสริมให้ร้านอาหารไทยทั่วโลก มีการเลือกใช้วัตถุดิบที่ถูกต้องครบถ้วนตามสูตรต้นแบบการปรุงอาหารของไทย และมีรสชาติอาหารไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้นการรับรองมาตรฐานอาหาร “รสไทยแท้” (Rod Thai Tae) จากสถาบันอาหาร จะเป็นเครื่องหมายหนึ่งที่ช่วยการันตีว่าผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก