เปิดไทม์ไลน์…..ต้นฉบับ “สตาร์ทอัพ” ตัวพ่อ!! : ชีพธรรม คำวิเศษณ์


“ก่อนจะลงมือทำธุรกิจนั้น…..ท่านได้เช็คคุณสมบัติของตัวเองว่าเหมาะเป็นผู้ประกอบการหรือไม่ ข้อดีของการเป็นลูกจ้าง ย่อมมั่นคงกว่าเป็นเถ้าแก่เอง มีเกราะกำบังสารพัด เงินทองได้มาตรงเวลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องได้อยู่บริษัทที่ดีๆ เพราะหากเจอบริษัทไม่ดี ชีวิตก็แทบม้วยมรณาได้เหมือนกัน”

พ.ศ. 2540
ผมเป็นข้าราชการรัฐวิสาหกิจ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จัดรายการโทรทัศน์ ออกหน้าจอทีวี จัดรายการวิทยุ เป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการเทคโนโลยีคนหนึ่ง แต่หลังจากผมตัดสินใจลาออกหลังจากทำงานมาเพียง 3 ปีเท่านั้น ผมเหมือนคนบ้าบิ่น ไม่มีเงินเก็บเลย คิดว่าจะออกมาหางานเป็นนักเขียนและมีชีวิตอิสระที่เพียงพอจะมีรายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเวลานั้นผมเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยแม้ว่าจะออกทีวี แต่ช่องทางหาเงินอย่างอื่นก็ตีบตัน ความคิดของผมก็คืออยากรวย อยากมีเงินเยอะ อยากหลุดพ้นจากความยากลำบากที่มีอยู่เพราะ ธุรกิจและครอบครัวธุรกิจของแม่ล่มสลายไปในรัฐประหาร

พ.ศ.2543
ผมเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจเล็ก ๆ มีพนักงานประมาณ 7 คน โมเดลของธุรกิจแต่เดิม ก็คือจัดรายการวิทยุที่มีเนื้อหาทันสมัยเกี่ยวกับ E-Business และเทคโนโลยีในเวลานั้นตามที่ผมเก่งและถนัด จำได้ว่าวันนั้นประมาณเที่ยงหลังจากจัดรายการเสร็จ ผมเดินไปหาเจ้าของสัมปทานผู้ให้เช่าช่วงสถานีวิทยุว่า สามเดือนที่ผ่านมา ผมหมดเงินไปประมาณ 9 แสนบาท ซึ่งตอนนี้หุ้นส่วนที่เขาให้เงินผม (เวนเจอร์แคปปิตอล) ขอให้เลิกทำรายการวิทยุ

ผมเดินออกมาจากสถานีวิทยุเกียกกาย ขสทบ.แบบมึนๆ ไม่รู้ว่าชีวิตจะเดินไปอย่างไรต่อไป
หลังจากนั้นสิ่งที่ผมต้องไปทำคือไปเลิกจ้างพนักงานทุกคนที่มีอยู่ให้หมด เหลือแต่ผมและน้องชาย ในที่สุดน้องชายก็ไปแสวงหาโชคชะตาของเขา ซึ่งก็ไปได้ดีกว่าที่ผมเป็นอยู่มาก

พ.ศ.2559
ตอนนี้ผมอายุ 44 ปี ผ่าน หลังจากที่ร้อนผ่านหนาวมา จึงอยากเขียนนำประสบการณ์เล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ เพราะผมนี่แหละครับ คือ “สตาร์ทอัพ ตัวพ่อ” ในยุคนั้น ชื่อบริษัทของผมก็คือ “ไทยเวนเจอร์ดอทคอมจำกัด” ลองไปค้นในกระทรวงพาณิชย์ดูตอนนี้เป็นบริษัทร้าง

ถ้าถามย้อนกลับไปว่า แล้วผมได้เงิน 9 แสนที่จะเช่าสถานีวิทยุจากไหน คำตอบคือ มีบริษัทวีเน็ตแคปปิตอล โดยคุณ ณรงค์ อิงธเนศ และ คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ เห็นความบ้าบิ่นของผมเขาบอกว่า “ถ้าผมกล้าลาออก เขาก็กล้าให้” แต่ 3 เดือนจากนั้น ทุกอย่าง เจ๊ง ตั้งแต่เริ่มต้น และผมก็ลากบริษัทนั้นมายาวนานถึง 8 ปี จนกระทั่งปิดตัวลง
“เป็นแปดปีแห่งความทรหดอดทน”

อ.ชรินทร์ วัชรินทร์วงศ์ ผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพถือ ถึงแม้ท่านจะเป็นข้าราชการ แต่ได้ให้แง่คิดดีมากเวลานั้น
“การทำธุรกิจเหมือนพายเรือออกจากฝั่งไปยังมหาสมุทร บางครั้งจุดหมายปลายทางก็อยู่ไกลเหลือเกิน……ไม่รู้จะถึงเมื่อไหร่”

อาจารย์ราม โชติคุต แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนรุ่นพี่ของผม ได้ให้คำนิยมของธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” คือธุรกิจที่ต้องมีนวัตกรรมอยู่ในองค์กรที่สร้างสรรค์ขึ้นมา
“ถ้าคุณกระโดดเข้ามาในนวัตกรรมและเทคโนโลยี คุณต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากกว่าธุรกิจอย่างอื่น”

จนมาถึงตอนนี้ อะไรๆ ก็สตาร์ทอัพครับ ซึ่งเป็นแคมเปญของรัฐบาลส่งเสริมกัน ประวัติศาสตร์วนกลับมาอีกรอบ แต่ผมขอบอกนิดนึงว่า คนที่บอกให้คนอื่นลงไปตะลุยทำธุรกิจที่เป็นหน่วยงานราชการ เขาเหล่านั้นอาจไม่เคยทำธุรกิจไม่รู้จักรสชาติของมัน

ผมได้ใช้ชีวิตและจิตวิญญาณกับผมใน สตาร์ทอัพ มาแล้ว ต่อสู้ด้วยความทรหดอดทนถึง 8 ปี ครอบครัวชีวิตแต่งงานล่มสลาย พ่อแม่ ต้องเดือดร้อนหาเงินมาช่วยกันอุดหนุนให้ตัวเราและบริษัทก้าวผ่านไปได้ ผมนึกทีไรแล้วยังสยอง ถ้ามองย้อนเวลากลับไปสิ่งที่ผมทำมายังไงก็ต้องเจ๊งอยู่ดี เพราะวิทยุอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงมาก

อะไรที่เจ๊งก็คือเจ๊งครับ ถ้าฝืนไปก็รังต่อพินาศสันตะโร เสียเกียรติศักดิ์ศรี เราเริ่มต้นใหม่ได้ โมเดลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

หลังจาก 8 ปีแห่งการกรำศึก จนผมขอยอมแพ้ผมตัดสินใจไปเที่ยวและแสวงหาความรู้ที่สหรัฐฯ กับโรงเรียนบริหารธุรกิจชั้นนำของโลก ได้แก่ Harvard Business School , Wharton School , Columbia Business School , MIT ฯลฯ

……เชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้โมเดลธุรกิจของผม ตัวของผมคือบริษัทคนเดียว ผมหาเงินได้มากกว่า เมื่อตั้งบริษัทเสียอีก เป็นครูสอนโซเชียลมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้กับบุคคลหลายพันคน เป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ และเป็นคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โอกาสหน้า ผมจะค่อยๆ เขียนเล่าให้ฟัง แต่ถ้าคิดอีกมุม ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นการทำ “สตาร์ทอัพ” ที่ท้าทายกับชีวิตของเรามากๆ ครับ

ชีพธรรม คำวิเศษณ์