เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็ต่างมีสินค้าหรือบริการเรียงรายให้เลือกสรรละลานตาเต็มไปหมด จนดูเหมือนว่ามันเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ผู้บริโภคกลายเป็นคนช่างเลือก ช่างเฟ้นหาไปโดยปริยาย
“ร้านอาหาร” ก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่ประเทศไทยมีร้านอาหารผุดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด มากถึงกว่า 100,000 ร้านทั่วประเทศ ทั้งแบรนด์ร้านอาหารต่างชาติก็ดาหน้าเข้ามาตีตลาดแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่สังเกตมั้ย? ว่าร้านส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยม มักเป็นร้านที่สร้างขึ้นจากการนำเอาไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันมาใส่โมเดลสุดทันสมัยทั้งด้านการบริหารจัดการและเสนอแนวความคิดเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่โหยหาความแตกต่างอย่างมีรสนิยม พร้อมเอาพนักงานร้านวัยหนุ่มสาว มีเอกลักษณ์โดดเด่นเก๋เท่ มีสไตล์ มาช่วยสร้างความน่าสนใจ แรงจูงใจและสะท้อนภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความสนใจของคนส่วนใหญ่พุ่งไปที่ภาพลักษณ์ของสินค้าหรือบริการมากกว่าจะมองถึงราคาที่ถูกกว่า ซึ่งถ้าพิจารณากันดีๆแล้ว หากจะสร้างร้านอาหารให้เป็นที่นิยม คงต้องหันมามองเรื่องคอนเซปต์ร้านที่แปลกใหม่แล้วนำมาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมและความสนใจของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดของการนำเอาไลฟ์สไตล์และบุคลิกพนักงานมาใส่ไว้ในการทำร้านอาหาร สามารถส่งผลกระทบต่อการสร้างผลกำไรได้จากทุกกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะผู้บริโภค 2 กลุ่มนี้ ซึ่งพวกเขามีผลสำคัญในการสร้างค่านิยมให้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆมาใช้บริการร้านที่พวกเขาโพสต์ภาพหรือเช็คอินอีกด้วย
Image Conscious Status Seeker
กลุ่มนี้จะเน้นความสำคัญไปที่ภาพลักษณ์และสถานะทางสังคมที่ดี กลุ่มนี้มีถึง1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเขามักมีทัศนคติทางบวก ชอบความประทับใจมีความมุ่งมั่นและวาดฝัน ดูหนังฟังเพลง ชอบท่องเที่ยว ของแฟชั่น สังสรรค์ เฮฮาในงานสังคม ยอมเป็นหนี้เพื่อซื้อในสิ่งที่ตนต้องการ อยู่กับเพี่อนเพี่อลดความเหงาความเศร้า สื่อที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มนี้คือทีวี และสื่อออนไลน์ (กลุ่ม Gen C)
Young Aspirers
เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีความมั่นใจสูงพวกเขาคือคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังและความหวัง มีสัดส่วน 1ใน 6 ของประชากร ค่อนข้างพอใจกับชีวิต พร้อมที่จะเดินหน้า ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ และสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สนใจเรื่องรอบตัว ห่วงเรื่องการเมือง ยาเสพติด แต่มีความเชื่อว่าทุกอย่างจะถูกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น กลุ่มนี้จูงใจได้ง่ายจากสื่อโฆษณา ซื้อสินค้าที่มีโฆษณาที่ดี เพราะเชื่อว่าแบรนด์ที่มีโฆษณาเป็นแบรนด์ที่ดี รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์เป็นหลัก (Gen Y และ Gen Z)