บัณรส บัวคลี่
อองซานซูจี เยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางเดือนกันยายนได้รับของขวัญชิ้นใหญ่กลับมา นั่นก็คือการประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะด้านการค้าหยกและอัญมณี รวมถึงการปลดล็อกบัญชีดำนักธุรกิจและกิจการค้าที่เคยถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับอำนาจปกครองฝ่ายทหารอีกกว่า 100 รายชื่อ
นี่เป็นเรื่องใหญ่มากในมิติเศรษฐกิจ ผลจากการปลดล็อกครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจพม่าทะยานเป็นพยัคฆ์ติดปีกขึ้นไปอีก เพราะเปิดโอกาสให้ทุนจากอเมริกาเข้าไปในพม่าแบบไม่ต้องมีข้อจำกัด สามารถร่วมมือกับบรรดายักษ์ใหญ่ไทคูนกลไกเศรษฐกิจพม่าตัวจริง เพราะเป็นที่รู้ๆ กันว่ากว่าครึ่งของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่กุมเศรษฐกิจแทบทุกด้านเป็นเครือข่ายของทหาร ทำมาหากินกับทหาร และโตมาจากระบอบทหาร
รายชื่อนักธุรกิจ-นักการเมืองคนสำคัญ ที่ได้รับอานิสงส์นี้ที่สื่อต้องกล่าวถึง เช่น
U Myint Swe อูมิ้นส่วย รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งจากพรรคทหาร นายคนนี้เป็นอดีตทหารแล้วต่อมาดำรงตำแหน่งการเมืองก็จริง แต่เกี่ยวข้องกับเงินธุรกิจมหาศาล ถ้าท่านจำเรื่องอื้อฉาว ปานามาลีกส์ ได้ อูมิ้นส่วนคนนี้มีชื่อไปเกี่ยวข้องกับการโอนเงินโพ้นทะเลในเกาะฟอกเงินด้วยคนหนึ่ง
อูมิ้นส่วย
U Tay Za อูเตซา (เตชะ) เจ้าของเครือธุรกิจ Htoo Group และ แอร์พุกาม (Air Bagan) ครอบครัวของเตซา สนิทสนมกับพล.อ.หม่องเอ พวกเขาได้งานจากรัฐและยังเป็นนายหน้าจัดซื้ออาวุธให้กับกองทัพด้วย เขาเป็นหนึ่งในธุรกิจใหญ่ไม่กี่คนที่สื่อยักษ์ใหญ่ตะวันตกรายงานเรื่องราวความเกี่ยวกับตัวเขา Forbes Asia เคยเขียนถึงไว้เมื่อปี 2014 Burmese Tycoon Tay Za Under Scrutiny และชื่อของเขาก็เป็นหนึ่งในรายงานของสถานทูตสหรัฐว่าด้วยเครือข่ายธุรกิจที่ใกล้ชิดกับอำนาจทหารผู้ปกครองที่เคยหลุดออกมาในวิกิลีกส์
u-tay-za
http://www.forbes.com/sites/forbesasia/2014/07/23/burmese-tycoon-tay-za-under-scrutiny/#5ebfcaf457e8
U Zaw Zaw อูซอซอ คนนี้เป็นหนุ่มไฟแรงเจ้าของเครือธุรกิจ Max Group กิจการของเหล่านักธุรกิจใหญ่แต่ละรายครอบคลุมเซ็กเมนท์ธุรกิจเกือบจะครบวงจร มีทั้งธนาคาร บริษัทก่อสร้าง โรงแรม สายการบิน เหมืองและอัญมณี เป็นธุรกิจแถวหน้า ใครไปพม่าจะเห็นเครือข่ายปั๊มน้ำมัน MAX สีแดงโดยทั่วไปตามถนนสายสำคัญ นี่เป็นหนึ่งกิจการในเครือของเขา นอกจากนั้นยังมีกิจการตัวแทนขายเครื่องจักรกลหนัก การเกษตรขนาดใหญ่ และที่เหมือนๆ กับบิ๊กธุรกิจอื่นของพม่าก็คือกิจการก่อสร้าง ที่ไว้รับงานจากรัฐ
u zaw zaw
อูซอซอคนนี้ยังมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฟุตบอลของพม่า และสนิทสนมกับหลานชาย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย แบบไม่ต้องปิดบังหรือเกรงใจสาธารณะ เคยเป็นเจ้าภาพควักเงินจัดงานวันเกิดหรูหราให้ เนฉ่วยทวยอ่อง หลานชายเพลย์บอยไฮโซสุดหล่อของพม่าคืนเดียวแค่ราว 2.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (คลิกอ่าน เน ฉ่วย ทวย อ่อง ผู้ (เคย) คิดจะซื้อทีมแมนยู http://www.smartsme.tv/content/18873 )
แต่ทั้ง อูมิ้นส่วย อูเตซา หรือ อูซอซอ ที่ว่าเป็นแถวหน้า ก็ยังต้องหลบให้ชื่อยักษ์ใหญ่ตัวจริงเสียงจริงซึ่งจะว่าไปแล้ว คนนี้ล่ะที่ได้รับอานิสงส์สูงสุดจากการยกเลิกแบล็คลิสต์ นั่นก็คือ มหาเศรษฐีเชื้อสายจีนโกกั้งทางตอนเหนือของรัฐฉาน นามว่า Steven Law สตีเวน โลว์ หรือ Htun Myint Naing ตุนมิ้นไนง์ หรือ Lo Ping Zhong โลผิงจ้ง ซึ่งจากนี้จะขอเรียกชื่อฝรั่งของเขาเพื่อความสะดวกเพียงชื่อเดียว
สตีเวน โลว์ เป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจ เอเชียเวิลด์ – Asia World ยักษ์ใหญ่แถวหน้าสุดของพม่า
นามของคน เงาของไม้
สตีเวน โลว์ ถูกจับตามานานแล้วเพราะเขาเป็นบุตรชายของราชันย์ยาเสพติดชื่อก้องโลก โลชิงฮัน ร่วมรุ่นกับ ขุนส่า-จางซีฟู แต่โลชิงฮันอายุยืนกว่าขุนส่า เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมาแล้วก็มีทายาทสืบทอดอย่างยิ่งใหญ่ ส่วนขุนส่านั้นจบตำนานของตนไปแบบไม่มีอะไรเหลือไว้
steven-law
กลุ่มธุรกิจเอเชียเวิลด์ เป็น โลชิงฮัน ที่สร้างขึ้นมาแล้วค่อยส่งมอบให้กับ สตีเวน โลว์ จึงไม่แปลกอันใดที่กิจการในเครือเอเชียเวิลด์จะถูกคว่ำบาตรในลำดับต้นของบัญชี แม้ว่าต่อมาโลชิงฮันจะวางมือ ส่งมอบให้ลูกชาย แต่เอเชียเวิลด์ ก็ยังต้องห้ามสำหรับชาติตะวันตกอยู่ดี สตีเวน โลว์ ก็พลอยรับมรดกแบล็คลิสต์ต่อจากบิดาไปด้วย
กิจการค้า Asia World Group ของโลชิงฮัน-สตีเวน โลว์ เริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2535 ภายใต้ร่มเงาของคณะทหาร ประเทศพม่าในเวลานั้นถูกตะวันตกบอยคอตแล้ว แต่ต่อให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรโลชิงฮันก็ยังพอมีทุน ส่วนพม่านั้นมีทรัพยากรเหลือเฟือที่ยังสามารถค้ากับจีนและชาติพันธมิตรอื่น โลชิงฮัน-สตีเวน โลว์ ได้สัญญาสัมปทานและการก่อสร้างจากรัฐบาลมากมาย สตีเวน โลว์ได้ภรรยาเป็นชาวสิงคโปร์ และมีเครือข่ายธุรกิจในสิงคโปร์ด้วย อเมริกาบอยคอตก็ทำไป แต่ทุนสิงคโปร์พาเหรดลงทุนในพม่าผ่านเครือข่ายเอเชียเวิลด์เป็นว่าเล่น พวกเขาเป็นข้อต่อทางเศรษฐกิจที่สำคัญเชื่อมพม่าในยุคที่ถูกปิดล้อมกับตลาดทุนเสรี
และยังมีช่องเชื่อมกับทุนใหญ่จากจีนในอีกด้านหนึ่ง สตีเวน โลว์ กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจของพม่าไปแล้ว ในห้วงรอยต่อของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง เขามีความยืดหยุ่นมากพอที่จะเข้าร่วมวงกับนักการเมืองพรรค NLD มีภาพถ่ายหลายภาพที่สตีเวน โลว์ ปรากฏตัวพร้อมๆ กับประธานาธิบดี ถิ่นจอ ตอกย้ำ และแสดงให้เห็นถึงปรัชญาของผลประโยชน์ธุรกิจและการค้าว่าอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแน่นอนที่สุด
การปลดแบล็คลิสต์ของนักธุรกิจใหญ่และแถมด้วยกิจการหยก-อัญมณีได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่มที่จับจ้องการเมืองพม่าอยู่ไม่น้อย เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ธุรกิจยักษ์ใหญ่แต่ละรายมีสายสัมพันธ์ย้อนกลับไปยังคณะนายทหารกลุ่มอำนาจเก่าแทบทั้งนั้น ยิ่งธุรกิจเหมืองและอัญมณีด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่รู้ว่ามีแต่ผู้มีอำนาจเงิน อำนาจรัฐ เครือข่ายขั้วอำนาจเดิมเท่านั้นที่ดำเนินกิจการนี้อยู่ เสียงวิจารณ์ด้านหนึ่งมองว่าการปลดล็อกแบล็กลิสต์เป็นการช่วยหนุนระบอบทหารอำนาจเก่าในทางอ้อม
แต่ดูเหมือนว่า วอชิงตันดี.ซี.ได้ชั่งน้ำหนักอย่างใคร่ครวญแล้วว่า มีแต่ต้องปลดล็อกทุกอย่างให้กระแสทุนนิยมได้เติบโตหลั่งไหล เศรษฐกิจพม่ากำลังโตพรวด จีดีพี.เกิน 7% ต่อเนื่องหลายปีแล้ว ทุนอเมริกามัวแต่บอยคอต อ้างโน่นนี่มีแต่เสียเปรียบชาติอื่นโดยเฉพาะจีนที่มีมูลค่าลงทุนเป็นลำดับต้น โครงการใหญ่ๆ มีแต่ของจีนทั้งนั้น
อเมริกาก็ต้องทำลืมๆ ไปว่า เครือข่ายกิจการยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมีนายพลทหาร SPDC แบมือรับร่วมอยู่ด้วย และยิ่งธุรกิจเติบโต ส่วนหนึ่งของทุนจะวิ่งไปสนับสนุนขั้วอำนาจฝ่ายทหารอย่างชนิดแหงแซะร้อยเปอร์เซ็นต์
ทุน และผลประโยชน์ธุรกิจ ไม่มีฝักฝ่าย ไม่มีขั้ว สิ่งใดที่เคยเป็นข้ออ้างมากมายของการตั้งข้อรังเกียจ เมื่อเวลามาถึง ก็จะมีข้ออ้างและเหตุผลใหม่ที่จะร่วมหัวจมท้ายกัน.