2 APP Chat รุกเจาะกระเป๋าเงินคนเมือง รับ Cashless เติบโต


pawana

ภาวนา อรัญญิก

 

 

 

 

ผู้ประกอบการต่างเชื่อมั่นว่า “โอกาส” ที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ (Cashless) เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้ว่าทุกวันนี้คนไทยจะยังคงมีสัดส่วนการใช้เงินสดจะยังสูงอยู่มาก แต่โอกาสในการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเลกทรอนิกส์กลับคืบคลานเข้าสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ติดกับดักของความ “เร่งรีบ” ในสังคมของเมืองใหญ่อยู่ไม่น้อย

ยิ่งเมื่อการเติบโตของกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่มีการใช้เทคโนโลยีของอุปกรณ์โมบาย แอปพลิเคชัน รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของ FinTech ที่พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่มีความคุ้นเคยในการใช้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) โดยเฉพาะการชำระค่าสาธารณูปโภค การชำระบิลต่างๆ เป็นต้น

ยิ่งกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Cashless เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตและมือถือมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 7.4 หมื่นล้านบาท เติบโตสวนทางกับการทำธุรกรรมผ่านระบบเอทีเอ็มและสาขาธนาคารกลับลดลง เนื่องจากแนวโน้มการใช้งานโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตในประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

กระเป๋าเงินอิเลกทรอนิกส์มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามระบบการใช้ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการผูกกระเป๋าเงินอิเลกทรอนิกส์ไว้กับบัญชีเงินฝากหรือบัตรเครดิต เพื่อให้สามารถเติมเงินมาใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้

ผู้ประกอบการหลายรายจึงมองเห็นโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น แชตออนไลน์ ทั้ง LINE และ WeChat ที่ต่อยอดแอพฯแชต เข้าไปยังไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในส่วนอื่นๆของผู้ใช้ โดยอาศัยความคุ้นเคยที่ผู้บริโภคมีให้กับแบรนด์หลัก แตกซับแบรนด์ออกมารองรับ

 

กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มลูกค้าในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตเร่งรีบ ที่มีการใช้จ่ายเป็นประจำ
ไลฟ์สไตล์ ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว
กลยุทธ์จูงใจ ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆจากการใช้
รูปแบบการใช้งานหลัก ใช้แทนเงินสดในการชำระสินค้าและบริการ
รูปแบบการใช้งานรอง โอนเงิน

 

LINE Pay

LINE เปิตดัว LINE Pay โดยนำคอนเซ็ปต์ “ช้อปง่าย จ่ายสนุก” มาใช้ทำตลาดกับไลฟ์ลไตล์ของกลุ่มเป้าหมายหลักคนเมืองรุ่นใหม่ ในการชำระเงินซื้อสินค้าทั้งบริการจากใน LINE เองหรือสินค้าจากร้านค้าต่างๆจากหลากแวดวงธุรกิจไม่ว่าจะเป็นด้านแฟชั่น การท่องเที่ยว หนังสือ ไอที การเงิน ฯลฯ เช่น Central Online, lazada, SE-ED นอกจากนี้ยังสามารถใช้เติมเงินโทรศัพท์มือถือได้ทั้ง 1-2-Call, dtac happy, Truemove-H โดยมีโปรโมชั่นส่วนลดของร้านค้าที่ร่วมรายการมาใช้เป็นกลยุทธ์จูงใจ

LINE Pay สร้างความสะดวกในการใช้ด้วยช่องทางเติมเงินเข้าได้หลายช่องทาง ทั้งตัดจากบัญชีธนาคารโดยตรง หรือโอนเงินเข้ามาจากตู้ ATM, Internet Banking หรือ Mobile Banking นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ “โอนเงิน” จากในกระเป๋าเงิน LINE Pay ให้เพื่อนผ่าน LINE โดยไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลบัญชีธนาคารของผู้รับ และไม่มีการคิดค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้นแม้จะเป็นการโอนข้ามธนาคาร

การเติบโตของ LINE Pay ทำให้ Rabbit ระบบบัตรสมาร์ทการ์ดแรกที่สามารถใช้ได้กับเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนร่วมลงทุนและเปลี่ยนชื่อเป็น Rabbit LINE Pay ดีลดังกล่าวส่งผลให้ LINE Pay กลายเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินแบบออนไลน์และออฟไลน์รายใหญ่ ด้วยฐานผู้ใช้ของบัตร Rabbit กว่า 5 ล้านใบ และมีจุดรับบัตรแรบบิทมากกว่า 4,000 จุดโดยจะกระจายอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่ยอดผู้ลงทะเบียนใช้งาน LINE Pay มีจำนวน 1.5 ล้านคน และจำนวนร้านค้าที่ร่วมรายการทั่วประเทศมากกว่า 250 ร้านค้า

 

WeChat Pay

แม้ว่า WeChat จะไมได้ขึ้นแท่นในฐานะแอพพลิเคชั่น แชตออนไลน์ อันดับหนึ่งของคนไทยอย่าง “ไลน์” แต่จุดแข็งของ WeChat ที่ปฏิเสธไมได้คือการมีฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ที่เมืองจีน

ซึ่งนั่นก็คืออีกเหตุผลหนึ่งในการเปิดให้บริการ WeChat Pay ในไทยเพื่อรองรับธุรกรรมทางการเงินของทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่มีปริมาณการเดินทางมายังประเทศไทยจำนวนมหาศาล 8 ล้านคนต่อปี และมีการใช้จ่ายเงินประมาณ 4.2 แสนล้านบาท รวมถึงนักธุรกิจจีนที่มาปักหลักค้าขายในไทย ให้สามารถรองรับการซื้อสินค้าและบริการให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงิน ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนมีข้อจำกัดเรื่องการนำเงินตราเข้าประเทศไทย

ดังนั้นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่าน WeChat Pay จะเป็นการเพิ่มอีกช่องทางหนึ่งในการจ่ายเงิน โดยร้านค้าที่มี QR CODE ก็สามารถให้ลูกค้าเปิดแอพพลิเคชั่นสแกนคิวอาร์โค้ดก็รับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบ WeChat Pay ได้ทันที ประกอบกับคนจีนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยในการใช้ WeChat Pay ในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆในชีวิตประจำวันมาระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบัน WeChat Pay มี Active user ทั่วโลกกว่า 400 ล้านบัญชี