ฉลาดรับมือกับปัญหาปวดหัว “เด็ก-แก่ต่างGENทำงานไม่ลงรอย”


น่าแปลกเหมือนกันที่ยุคนี้เราจะได้ยินปัญหาช่องว่างระหว่าง Gen เพราะถ้าย้อนดูอย่างถี่ถ้วน เรื่อง Gen ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในชีวิตจริงเรื่อง Gen อยู่กับเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราก็ Gen หนึ่ง พ่อแม่เราก็ Gen หนึ่ง คุณตาคุณยายก็ Gen หนึ่ง นี่ยังไม่รวมถึงพี่น้องของเรา บางครอบครัวอยู่รวมกันมีกันทุก Gen ในบ้าน ตั้งแต่ Baby Boomer , Gen X , Gen Y , Gen Z แต่เขาก็อยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข อาจไม่เข้าใจกันบ้าง แต่ก็ปรับความเข้าใจกันได้ ดังนั้นเรื่อง Gen จึงอยู่กับเรามานานแล้ว

ในด้านการทำงานในองค์กร เรื่อง Gen เป็นปัญหาหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงบ่อยครั้ง ซึ่งเรื่องนี้มักจะเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง ที่ใครนึกอะไรไม่ออกก็มักจะหยิบมาอ้าง “ความขัดแย้งเกิดจากความต่างของ Gen จริงหรือ? ”

จากประสบการณ์การพัฒนาองค์กรต่างๆ (Organization Development) พบว่า ไม่ว่าจะ Gen ไหนก็ตาม ก็จะมีความต่างของบุคลิกลักษณะของคนหลักๆ 4 กลุ่ม คือ

· กลุ่มที่เก่งคิด (Strategic)

· กลุ่มที่เก่งทำแบบเป็นระบบ เน้นข้อมูล (Systematic)

· กลุ่มที่เก่งลุย เป็นนักแก้ปัญหา (Tactical)

· กลุ่มที่เก่งประสาน ทำงานร่วมกับคน (People Oriented)

นอกจากความต่างในด้านบุคลิกลักษณะและพรสวรรค์แล้ว คนแต่ละกลุ่มยังมีความเป็นสังคม (Social) และสันโดษ (Intellection)  ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมของคนด้วย (อ้างอิงจากทฤษฎี Talent Scann ของ ดร.วนิดา พลเดช ผู้คิดค้นเครื่องมือ Talent Scann)

คนแต่ละกลุ่มจะมีวิธีการสื่อสารทั้งการสื่อ และการรับสารที่แตกต่างกัน บางกลุ่มชอบพูดชอบฟังอะไรที่สั้นๆ ชัดๆ ตรงไปตรงมา , บางกลุ่มชอบฟังรายละเอียดและอธิบาย ,บางกลุ่มพูดตรงๆ ห้วนๆ และบางกลุ่มชอบสนทนา พูดยาว ภาษาดอกไม้ ไม่น่าเชื่อแค่ลักษณะของคน ก็สร้างความแตกต่างได้ขนาดนี้

ถ้าจะทำให้คนทุก Gen ทุก Type ทำงานร่วมกันได้ดี ควรจะเริ่มจากอะไร ?

1. ให้แต่ละคนเข้าใจใน Identity ของตนเอง  (Self Identity Understanding)

เราเป็นใคร เก่งอะไร มีอะไรที่เป็นข้อดี (ในสายตาตัวเองและผู้อื่น) มีอะไรที่ต้องระวัง (จุดด้อยในมุมมองของผู้อื่น) ข้อนี้สำคัญมาก ถ้าเราค้นพบจุดเด่นของตนเองเจอ เราจะสามารถสร้างคุณค่าดีๆ ได้อีกมาก

2. เข้าใจในผู้อื่น เขาเหมือนและต่างจากเราอย่างไร (Other Understanding)

เราจะเข้าใจว่าคนทุกคนน่าจะเหมือนกัน ซึ่งเรามักจะยึดตนเองเป็นศูนย์กลางเวลาสื่อสาร ทำงานร่วมกับคนอื่น เมื่อเจอปัญหาในการทำงานร่วมกัน เราก็มานั่งบ่นว่าทำไมคนนั้น คนนี้ ไม่คิดเหมือนกับเรา ก็แท้จริงเรามีความต่างกัน เราจึงคิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจในลักษณะของคน แต่ละกลุ่ม และปรับการสื่อสาร การทำงานให้ตรงกับบุคลิกลักษณะ และพรสวรรค์ของคน สองส่วนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่องค์กรต้องเริ่มหันมาให้ความสำคัญ ถ้าหากเราทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น ก็จะง่ายกับการที่เราจะดึงที่ดีของแต่ละคนเข้ามาทำให้งานสำเร็จ

เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง The Avenger ที่เหล่า Super Hero นั้นมีความสามารถที่ต่างกัน เพื่อชัยชนะ พวกเขาจึงดึงจุดเด่นของแต่ละคน มาช่วยกันทำภารกิจให้บรรลุได้

อีกเรื่องที่น่าเชื่อว่าหลายคนอยากได้คำแนะนำ คือ แล้วถ้าปัจจุบันมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม หรือ Gen อยู่จะทำอย่างไรดี ?    รับฟังและหาจุดร่วมครับ … วิธีที่ดีที่สุด

1. รับฟัง เปิดใจ (Open Mind , Open Heart , Open Will)

ในหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ได้ให้ความสำคัญการสุนทรียสนทนา (Dialouge)โดยเน้นการสนทนาที่เปิดใจ เน้นการฟังอย่างเข้าใจ รับรู้ไปถึงความรู้สึกและฟังอย่างไม่ตัดสิน (Deep Listening) ปัญหาของหลายองค์กรที่พบในการทำงานร่วมกัน คือ “มีคนพูดมากกว่าคนฟัง”และชอบตัดสินผู้อื่น ไม่ฟังจนจบ พยายามคิดหาเรื่องพูดและจังหวะแย้ง ดังนั้นถ้ามีปัญหาความไม่เข้าใจกัน (ไม่ขอใช้คำว่าขัดแย้ง) เราควรจะมารับฟังกัน โดยไม่แทรกให้ผู้พูด พูดในสิ่งที่อยากพูดจนจบ ส่วนผู้ฟังก็ฟังอย่างตั้งใจ

2. สร้างพรมแดนจุดร่วมระหว่างกัน (Area of Collaboration)

การฟังอย่างเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้น  ซึ่งการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข จะต้องหาจุดร่วม ซึ่งการใช้ Facilitation Technique แล Group Coaching เข้ามาช่วย ถือเป็นเครื่องมือที่ดี ในการตั้งคำถามและวาดภาพการทำงานเป็นทีมในฝันที่เราอยากให้เป็น เช่น

· ถ้าเราจะมาร่วมกันสร้างภาพเป้าหมายการทำงานของพวกเรา ที่ทุกคนทำงานอย่างมีสุขและได้ผลลัพธ์ เราอยากจะให้ภาพนั้นเป็นอย่างไร ?

· จากเป้าหมายที่เรากำหนดร่วมกัน พวกเราแต่ละคนจะนำสิ่งที่เป็นจุดเด่นมาช่วยทีมอย่างไรบ้าง ?

· เราอยากให้มีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะช่วยให้พวกเราได้สื่อสาร เข้าใจกัน ?

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำถาม ที่ชวนให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมคิดสร้างเป้าหมายและทางเลือกร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เมื่อเกิดปัญหา ความไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต่างระหว่าง Gen หรือ Identity หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม เราควรหันมาหน้ามาคุยกัน รับฟังและร่วมกันหาทางออกอย่างตรงไปตรงมา อย่างสร้างสรรค์

วิเคราะห์โดย นราวิทย์ นาควิเวก

CEOบริษัทเอ็กเซลเลนท์ พีเพิล จำกัด

Strategic Partner & Consultant บริษัท พีเพิลแวลู่ร์ จำกัด