สินค้าไทยในสายตาคนพม่า


%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%93%e0%b8%a3%e0%b8%aa-%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%88

บัณรส บัวคลี่

….ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมท่องตระเวนในประเทศพม่าจากรัฐฉาน เข้าภาคกลางมัณฑะเลย์-อังวะ ลงไปพะโค ข้ามแม่น้ำสะโตงไปยังรัฐมอญ ถึงมะละ แหม่งและเข้าสู่รัฐกะเหรี่ยงที่ผาอัน-กอกะเร็กก่อนจะเข้าประเทศไทยทางด่านแม่สอดรวมเวลาราวครึ่งเดือน

ร้านริมทางระหว่างเชียงตุง-ตองยี ถ่ายเมื่อ 17 ต.ค.2559

…..ผมได้พบเห็นเรื่องราวมากมาย ที่สนใจเป็นพิเศษอย่างหนึ่งก็คือสถานะของสินค้าไทยที่เขาว่ากันว่าเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ สมัยที่เริ่มทำงานข่าวใหม่ๆ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เคยทราบมาว่าผงชูรส กับเครื่องดื่มชูกำลังเป็นสินค้ายอดนิยมส่งออกพรมแดน นอกเหนือจากสินค้าหนักที่จำเป็น เช่น ปูนซิเมนต์ มาถึงยุคนี้พรมแดนเปิดกว้างขึ้น การคมนาคมระหว่างพม่ากับประเทศอื่นก็คล่องตัวกว่าเก่า เส้นทางค้าระหว่างพม่า-จีนทางด่านหยุยลี่ (Ruilli) คึกคักมาก ปรากฏว่า ต่อให้จีนมีการส่งออกสินค้าอื่นๆ มากมายเข้ามายังพม่า แต่ก็ยังกินสินค้าไทยในบางกลุ่มไม่ลง โดยเฉพาะเครื่องอุปโภค-บริโภค ของกินประจำวัน เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว ไทยยังเหนือกว่าจีนหลายเท่าตัว

ระหว่างการเดินทางแวะพักร้านข้างทางหลายครั้ง แต่ละแห่งมีสินค้าไทยเป็นส่วนใหญ่ คลิปที่ถ่ายมาเป็นตู้โชว์สินค้าของร้านพักระหว่างเดินทางจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีแต่สินค้าไทยที่ครองส่วนแบ่ง ผมคุยกับชาวรัฐฉานที่เคยมาทำงานเมืองไทย เขาบอกว่า คนพม่ากลัวอาหารจีน ข่าวการปลอมอาหารของจีนขนาดไข่ไก่ยังปลอมทำเอาคนพม่าแหยงมาก หมวดอาหาร-เครื่องดื่ม จึงยังไม่มีใครสู้สินค้าไทย

มัคคุเทศก์ชาวพม่าร่วมคณะถึงขนาดพกกาแฟซองที่ซื้อจากประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นของไทยจริงๆ ติดตัว เพราะกาแฟซองทรีอินวันประทับตราของไทยที่วางขายกัน ไม่แน่ว่าจะเป็นกาแฟปลอมที่มาจากชายแดนตอนเหนือ…เอากะเขาสิ

ตามเมืองใหญ่ๆ มีร้านค้าทันสมัยของ SME ห้องแถว อันดับแรกคือโทรศัพท์มือถือ ขายซิม ซ่อมเครื่องโทรศัพท์ สะท้อนว่าสังคมพม่าและตลาดพม่ากำลังเปลี่ยนไป ในจำนวนอะไรที่ดูทันสมัยๆ เหล่านั้น ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นที่เขียนป้ายตัวโตว่า Thai Fashion เพื่อเป็นชื่อร้านหรือเป็นจุดขาย… แฟชั่นจากประเทศไทยดูจะเป็นที่นิยมมาก …หมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนี่ก็อีกหมวด ที่สินค้าจีนกินไทยไม่ลง dsc_0576 เหล้า-เบียร์จากไทยเป็นที่นิยมกว่าเบียร์จีนนิดหน่อย ที่เฉือนกันสูสีเพราะสามารถขายถูกกว่าที่เมืองไทย เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต พ้นจากด่านท่าขี้เหล็กไปแค่ 40-50 กิโลเมตร เบียร์ไทยขายกระป๋องละ 20 บาท เลยไปถึงเมืองใหญ่ชุมทางอย่างพยากและเชียงตุง บวกราคานักท่องเที่ยวแล้วก็ยังขายแค่กระป๋องละ 1000 จ๊าต ราวๆ 30 บาทไทย พอเลยจากเมืองท่องเที่ยวไป ลดเหลือกระป๋องละ 700-800 จ๊าตเท่านั้น สามารถสู้กับเบียร์จีนที่ถูกมากอย่างน่าเหลือเชื่อได้

เบียร์ไทยยังแข็งแกร่งเป็นที่นิยมกว่าจีน นั่งรถไฟจากเมืองสีป้อ มีแม่ค้าทูนกระจาดขนมขบเคี้ยวมาขาย ใต้กระจาดมีเบียร์กระป๋องด้วย เป็นเบียร์ช้างของไทยขายกระป๋องละ 1000 จ๊าต นี่นับว่าเป็นราคาบวกเพิ่มแล้ว แต่แม่ค้ายังกำไรไม่พอ บอกว่าเบียร์ของไทยหมด มีแต่เบียร์คล้ายๆ กันจากจีนขายราคาเท่ากัน เมื่อเอามาดูอ้าว! ทำกระป๋องสีและลวดลายคล้ายกันมาก เห็นได้ชัดว่าจงใจทำเลียน ให้คล้าย โหนยี่ห้อที่แข็งแกร่งกว่า

สักพักมีตำรวจรถไฟแอบมากระซิบเตือนผ่านไกด์ของเราว่า อย่าไปซื้อเบียร์ปลอมที่หลอกขายว่าเป็นเบียร์ไทยนะ ซึ่งเราก็รู้กันแล้ว คนไทยเห็นกระป๋องปุ๊บก็รู้แล้วว่าปลอม ทั้งสีของกระป๋อง รูปช้างสองตัวคล้ายกันมากสำหรับฝรั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่รู้… ถูกหลอกให้ซื้อเบียร์ช้างเลียนแบบนั่งชมทิวทัศน์ของรถไฟสายโรแมนติก ผ่านสะพานก๊กเต็กที่เลื่องชื่อสบายอารมณ์…เพราะช้างเป็นยี่ห้อที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่พอสมควร dsc_0575 แต่สำหรับปูนซิเมนต์ไทย เครื่องสุขภัณฑ์และการก่อสร้างยังแข็งแกร่งเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนกับเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่ส่งไปเท่าไหร่พม่ารับหมด สินค้าประเภทเดียวกันนี้จากจีนน่ากลัวมาก กลุ่ม SCG ยึดพื้นที่มั่นในรัฐกะเหรี่ยงและมอญได้ค่อนข้างดี เพราะเป็นพื้นที่ติดชายแดนไทยด้านด่านแม่สอด-กาญจนบุรี และไกลจากพรมแดนจีนมาก SCG ลงทุนทำป้ายถนนตลอดสองข้างทางในเขตรัฐมอญให้เห็นเด่นชัดมาก แต่ก็นั่นล่ะเมื่อเข้าไปถึงตอนกลางของพม่าและเขตภาคเหนือ กลับเป็นเขตอิทธิพลของสินค้าจีนไปแล้ว โรงแรมใหญ่ๆ ที่เข้าพัก ใช้เครื่องสุขภัณฑ์ยี่ห้อแปลกจากจีนแทบทั้งนั้น

เมื่อเทียบพลังในการทะลุทะลวงการตลาดและเศรษฐกิจ จีนเหนือกว่าไทยมาก ถนนเส้นหลักที่เชื่อมไทย-พม่า จากด่านแม่สอด ผ่านกอกะเร็ก-ผาอัน เข้ามะละแหม่ง เพิ่งจะใช้การได้เป็นไฮเวย์ที่วิ่งได้ตลอดเวลาเมื่อไม่เกิน 2 ปีมานี้เองเพราะรัฐบาลไทยให้เปล่า มิฉะนั้นมันจะยังเป็นคอขวดในการคมนาคมเชื่อมต่อแก้ไม่หาย ปัจจุบันถนนเส้นนี้สามารถวิ่งจากแม่สอดเข้าถึงมะละแหม่งได้ในไม่กี่ชั่วโมง ออกจากไทยเช้ามีเวลาเดินเล่นตอนเย็นริมอ่าวเมาะตะมะก็แล้วกัน ถนนเส้นนี้มีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งหนาตา แต่เมื่อเทียบกับถนนเส้นหลักจากมัณฑะเลย์ ผ่านพินอูลวิน-สีป้อ-ลาเสี้ยว-มูเจ่ ด่านพรมแดนหยุยลี่เข้ามณฑลยูนนาน กลับเป็นคนละเรื่อง เพราะถนนเส้นดังกล่าวคึกคักกว่ากันหลายเท่าตัว

ปริมาณรถบรรทุกเปรียบเทียบกับสองเส้นทาง…สะท้อนว่าการคมนาคมขนส่งสินค้าจีน-พม่ามีปริมาณความหนาแน่นมากกว่าเส้นทางไทย-พม่าอย่างชัดเจน วันที่ผ่านไปนั้นมีรถขนาดใหญ่แล่นสวนราวๆ 5-10 นาที/คันตลอดเส้นทางร้อยกว่ากิโลเมตรจากมัณฑะเลย์ไปยังเมืองสีป้อ

ผู้ประกอบการชาวรัฐฉานคนหนึ่งบอกว่า สินค้าจีนที่ชาวพม่าเดินดินทั่วไปนิยมมากที่สุด เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการก็คือ โทรศัพท์มือถือและมอเตอร์ไซด์ และนี่ก็เป็นโอกาสของนักธุรกิจ/พ่อค้าขนาดกลางและย่อมในท้องถิ่นห่างไกล (ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่อย่างมัณฑะเลย์หรือตองยี) พวกเขาจะเดินทางไปยังด่านหยุยลี่ (Ruilli) เอาเงินสดไปซื้อมอเตอร์ไซด์มาขายในเมืองของตน แล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าขายไม่ออก ไม่นานก็ต้องเดินทางไปซื้อล็อตต่อไป เพราะระบบตัวแทนจำหน่ายตลาดมอเตอร์ไซด์ (Authorized Dealer) ในพม่ายังไม่เต็มรูปแบบนัก คือยังอยู่ในสภาพที่ใครใคร่ค้า ก็กำเงินไปซื้อสดมาทำกำไรในละแวกเมืองของตน

สินค้าไทยหมวดที่แข็งแกร่งก็ยังคงแข็งแกร่ง แต่หมวดที่เริ่มถูกกระทบก็มีให้เห็นอยู่ เช่นหมวดก่อสร้างซึ่งเคยครองตลาดเดิม ส่วนจีนนั้นกำลังมาแบบยักษ์ ก้าวแต่ละก้าวก็สะเทือน…สินค้าจีนที่กำลังครองตลาดเป็นหมวดกำไรสูง หมวดเทคโนโลยีและของหนัก เห็นปริมาณรถบรรทุกจากด่านจีนแล้วยังหนาวมาถึงตอนนี้.