บัณรส บัวคลี่
การเผาไหม้และไฟป่าในเกาะสุมาตรา กาลิมันตัน อินโดนีเซียเป็นปัญหาใหญ่ประจำทุกปีและหนักข้อขึ้นในระยะ 3-4 ปีมานี้ เมื่อปี 2014-2015 วิกฤตควันไฟรุนแรงที่สุด ข้ามมากระทบเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมถึงภาคใต้ของประเทศไทยเต็มๆ ชนิดที่สองประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ประสบภัย กระทบต่อผู้คน วิถีชีวิตมากมาย โรงเรียนต้องหยุด เรือเฟอรี่ไม่สามารถแล่นรับส่งได้ การค้าและการท่องเที่ยวกระทบไปหมด ฯลฯ
ควันไฟจากอินโดนีเซีย มีผลต่อเศรษฐกิจแบบที่จับต้องได้ทั้งในประเทศตนเองและต่อประเทศเพื่อนบ้านเพราะในอินโดนีเซียเอง วิกฤตควันไฟกระทบต่อการบิน และกิจกรรมขนส่งทั้งหลายต้องหยุดเช่นกัน ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายด้านสุขอนามัยการแพทย์ที่เพิ่มพรวด ธนาคารโลกประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจว่าอินโดนีเซียสูญเสียให้กับหมอกควันไฟไปถึงราว 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.6 แสนล้านบาทไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำของสิงคโปร์ประเมินว่าพวกเขาเสียหายไปราว 517 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.8 หมื่นล้านบาทเฉพาะช่วงเวลาไม่นานนักที่หมอกฝุ่นควันข้ามช่องแคบมาโจมตี
ถ้ายังจำกันได้ เจ้าปัญหาฝุ่นควันไฟสุมาตราทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซียกระทบกระทั่งเกิดความไม่พอใจระหว่างกันมาแล้ว ระดับที่มีวิวาทะข้ามไปมาของรัฐมนตรีของสองประเทศ เมื่อปีกลายรัฐบาลสิงคโปร์ถึงกับงัดมาตรการทางกฎหมายมาฟ้องร้องบริษัทด้านการเกษตรที่มีฐานผลิตในสุมาตรา 5 รายที่ก่อมลพิษข้ามมา ในเวลาไล่เลี่ยกันรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็ฟ้องร้องบริษัทเอกชนผู้ผลิตแป้งสาคูของตนเองแล้วก็เพิ่งชนะคดีเมื่อต้นปีเรียกค่าเสียหายเป็นพันๆล้าน เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูก่อนฤดูเผาไหม้จะเริ่มขึ้นในราวกลางปี
การเอาจริงเอาจังของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด รัฐบาลอินโดนีเซียเสียหน้ากับการถูกชี้ว่าไร้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ซึ่งเรื่องจริงที่ปรากฏผ่านสื่อมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ พอเริ่มปีนี้ทันทีที่รัฐบาลเอาจริง ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
มาตรการหลักของรัฐบาลคือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทการเกษตรที่เข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ ถ้ายังควบคุมไฟไม่ได้ ก็จะถูกดำเนินการ
รองลงมาคือรายย่อย บุคคลทั่วไป หากพบว่าเกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดไฟไหม้ก็จะถูกจับ อินโดนีเซียจะเริ่มมีไฟจุดเผาไหม้ในราวต้นเดือนกรกฎาคม ปกติพอถึงสิงหาคม-กันยายน ก็เกิดฝุ่นควันแล้ว แต่ปีนี้ยอดจับกุมในเดือนสิงหาคมขึ้นไปเกือบ 500 คนจากเดิมที่เคยจับเมื่อปี 2015 อยู่ที่ราว 190 คน แสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังได้ชัดเจน ปรากฏกว่าโดยสถิติปี 2016 สูงกว่าปี 2015 เกินกว่าเท่าตัว
มาตรการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการให้ท้องถิ่นเร่งประกาศภาวะฉุกเฉินพื้นที่ภัยพิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานส่วนกลางสามารถเข้าไปร่วมจัดการได้โดยเร็ว ปัญหานี้เป็นเรื่องระบบการบริหารราชการภายในและก็รุงรังมาก ผมเคยอ่านบทความเรื่องวิกฤตฝุ่นควันที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร TEMPO เมื่อราวตุลาคมปีกลายซึ่งเป็นปีที่ฝุ่นควันวิกฤตมากข้ามมาถึงภาคใต้ของเราบอกว่าหน่วยงานท้องถิ่นในสุมาตราไม่ยอมประกาศภาวะฉุกเฉิน แช่ปัญหาเอาไว้จนเสียหายทำอะไรไม่ได้แล้วจึงค่อยประกาศ ขณะที่หน่วยงานส่วนกลางก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้เพราะกฎหมายของเขาล็อกอยู่ ต้องรอให้ท้องถิ่นประกาศเสียก่อน แต่มาปีนี้ท้องถิ่นรีบประกาศภาวะฉุกเฉินกันใหญ่ แล้วก็ทำแต่เนิ่นจึงสามารถระดมสรรพกำลังลงพื้นที่ได้แต่ต้นฤดู
แม้จะทุ่มเทกันแบบเต็มเหนี่ยว กล่าวได้ว่าสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดภาวะฝุ่นควันวิกฤตที่เคยเกิดเมื่อปี 2014-2015 ได้สำเร็จ แต่ก็นั่นล่ะ มันก็ยังมีการเผาอยู่ และก็มีจุดฮ็อตสปอตโชว์อยู่ผ่านการมองจากดาวเทียม เพราะเกาะสุมาตราใหญ่มากนะครับ เกือบๆ จะเท่าประเทศไทย ปีนี้ก็ยังมีฝุ่นควันจากสุมาตราข้ามไปกระทบกับสิงคโปร์ มาเลเซียอยู่ช่วงสั้นๆ ในปลายเดือนสิงหาคม ในทันทีนั้น รัฐบาลมาเลเซียกับสิงคโปร์ก็เสนอส่งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินดับไฟไปช่วยหากได้รับการร้องขอ
ซึ่งที่สุดแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ดีมากในภาพรวม อย่างน้อยผลจากการทุ่มเทจัดการจริงจังก็ปรากฏให้เห็นเมื่อฤดูฝนมาถึงในเดือนตุลาคม สถิติทุกอย่างดีขึ้นอย่างชัดเจน ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วรับตำแหน่งไม่ทันไรก็ต้องเผ่นไปบัญชาการดับไฟตัวเป็นเกลียวแล้วก็นำมาซึ่งมาตรการชุดใหญ่ที่ใช้บุคลากรราว 12,000 คน ในจำนวนนั้นมีทหาร 3,700 นาย และตำรวจ 8,000 นายเพื่อแก้ปัญหาในปีนี้ ได้กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า รัฐบาลอินโดนีเซียจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตควันไฟได้สำเร็จภายใน 3 ปี
ฟังแล้วน่าชื่นใจแทนประชาชนของเขา ตลอดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซียที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาที่ตนไม่ได้ก่อต่อเนื่องมาหลายปี รัฐบาลของทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ก็ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนของตนเองได้ดี กดดันด้วยวิธีนานัปการทั้งผ่านช่องทางอาเซียน การทูตทางการ ไปจนถึงวิวาทะผ่านสื่อ จนกระทั่งปัญหาของปีนี้ลดลงมาอย่างชัดเจนจับต้องได้
ประเทศกลุ่มอาเซียนมีปัญหาฝุ่นควัน 2 เขต ฝุ่นควันไฟที่เกิดจากสุมาตรา-กาลิมัน เกิดระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี เพราะฤดูดังกล่าวเป็นหน้าแล้วของอินโดนีเซีย ฝนของเขาจะเริ่มเข้าราวกลางเดือนตุลาคมและตกหนักในเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นก็จะเป็นรอบของฝุ่นควันตอนเหนือของภูมิภาคแถวๆ ภาคเหนือของไทย ลาว และพม่า ซึ่งจะเกิดเป็นประจำทุกปีเช่นกันในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
จุดแดงฮ็อตสปอตที่เกิดในอินโดนีเซียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ฮ็อตสปอตและฝุ่นควันในภาคเหนือของไทย ลาว พม่า กลับไม่ได้ลดลง เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการแก้ปัญหาโดยการกำหนดช่วงเวลางดเผาอย่างเด็ดขาด ซึ่งทำให้จุดความร้อนลดลงในระหว่างนั้น แต่เมื่อพ้นกำหนดห้ามเผาจุดสีแดงและฝุ่นควันที่อั้นไว้นานก็โหมเกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้น เมื่อรวมสถิติจุดความร้อน พื้นที่การเผาแล้วไม่ได้ลดลงจากเดิมเลย แค่ย้ายช่วงเวลาการเกิดปัญหาออกไปเท่านั้น
ไทย ลาว และพม่าน่าจะหันไปดูประสบการณ์ของเพื่อนบ้านอาเซียนตอนใต้บ้าง.
คลิกอ่านประกอบ http://www.channelnewsasia.com/news/singapore/less-haze-this-year/3084016.html http://m.todayonline.com/world/indonesia-fire-arrests-jump-amid-efforts-stop-haze https://www.vietnambreakingnews.com/2016/08/indonesia-warns-of-haze-from-forest-fires/