เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ของธุรกิจ SME ด้วยคลัสเตอร์ [CLUSTER]


14705616_10154585944826462_3552402750948413663_n

ดร.พนม ปีย์เจริญ

ช่วงหลังๆนี้ เราจะได้ยินคำว่า คลัสเตอร์ [CLUSTER] บ่อยขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐบาลและภาคเอกชน หลายท่านก็สงสัยว่า ไอ้เจ้าคำว่า คลัสเตอร์ นี้มันหมายความว่าอะไร แล้วมันจะช่วยทำให้ธุรกิจเล็กๆ ของเราดีขึ้นอย่างไร นี่จึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับ คลัสเตอร์ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

ความจริงความหมายของคำว่าคลัสเตอร์ก็ไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยากอะไร เพราะอันที่จริงแล้ว คลัสเตอร์ ก็คือ การรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันของธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย อันเป็นวิสาหกิจที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยที่ในกลุ่มวิสาหกิจนั้นผลิตสินค้าหรือให้บริการที่มีลักษณะเหมือนกันหรือเกี่ยงข้องกัน สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้เมื่อต้องเผชิญปัญหา อุปสรรค โอกาสและความท้าทายต่างๆ ทางธุรกิจ จึงเผชิญเหมือนๆกัน ดังนั้นคลัสเตอร์จึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน เข้าลักษณะที่ว่า “ หลายหัว ดีกว่าหัวเดียว ” คือช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันสบับสนุน ส่งเสริมซึ่งกันและกันในลักษณะเกื้อกูลกัน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งองค์ประกอบของ คลัสเตอร์ตัวหลักๆ ก็ประกอบไปด้วย

๑. ภาคเอกชน อันประกอบไปด้วยสมาชิกที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกันที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อันจะเป็นแกนหลักของคลัสเตอร์นั้นๆ

๒. สถาบันการเงิน เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งขององค์ประกอบของคลัสเตอร์ เพราะสถาบันการเงินจะเป็นพื้นฐานทางด้านทรัพยากรทุนให้กับธุรกิจในกลุ่มหากมีความต้องการเงินลงทุนโปรเจ็คใหม่ๆ หรือขยายกิจการออกไป สถาบันการเงินต้องส่งเสริมอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย ไม่ยุ่งยากล่าช้าจนทำให้เสียโอกาสไป ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสถาบันการเงินก็คือช่วยให้ข้อมูลการวิเคราะห์แก่การลงทุนใหม่ๆ ว่ามีความเป็นได้มากน้อยเพียงใดแก่สมาชิกที่จะลงทุนในคลัสเตอร์ด้วยนักวิเคราะห์ธุรกิจมืออาชืพที่มีอยู่ในสถาบันการเงินของตน เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จให้แก่ผู้ลงทุน ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดความเสี่ยงในการให้เงินลงทุน แก่สมาชิกอีกด้วย

๓. สถาบันการศึกษา เป็นอีกองค์กรหนึ่งในพื้นที่ของกลุ่มสมาชิก คลัสเตอร์ ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของธรุกิจในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งในด้านการพัฒนาวิจัยต่างๆ การพัฒนาเสริมสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการแข่งขันตลอดจนสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมของสมาชิกในกลุ่ม คลัสเตอร์นั้นๆ

๔. ภาครัฐบาล ถือว่าเป็นสำคัญอย่างยิ่งส่วนหนึ่ง ที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านทางนโยบาย มาตราการต่างๆ ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยกำชับให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดช่วยสนับสนุนจริงจังต่อเนื่อง โดยเน้นให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เพื่อเป็นสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้อยู่รอดอยางยั่งยืนได้ องค์ประกอบหลักทั้ง 4 ด้าน ของคลัสเตอร์นี้ ต้องมีการสื่อสารคุณภาพอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาคเอกชนซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของโปรเจ็คหรือเป็นเจ้าภาพที่แท้จริง จะต้องมีความจริงใจต่อกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ต้องรู้สึก WIN WIN  คือได้ด้วยกัน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะถ้ารวมตัวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คลัสเตอร์ นั้นจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันได้ชัด เพราะ

๑. สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบได้โดยตรงและง่าย เพราะแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตต่างๆ อยู่ในกลุ่มสมาชิกที่มารวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ สามารถต่อรองเรื่องราคา การขนส่ง ความรวดเร็วในการส่งสินค้า และการผลิต ตลอดจนสามารถจัดหาองค์ประกอบพิเศษสำหรับการผลิตได้ง่ายขึ้น

๒. สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในกลุ่ม คลัสเตอร์ มีองค์กรทางการศึกษาให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรมนุษย์อีกทางหนึ่งด้วย

๓. เกิดกิจกรรมการผลิตที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน [ Complementarities ] เนื่องจากการรวมตัวกันของสมาชิก เป็นการรวมตัวกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือมีทั้งแหล่งวัตถุดิบ การขนส่ง การออกแบบหีบห่อ การตลาด ผู้จัดจำหน่าย ฯลฯ อยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ด้วยกัน

๔. ผู้ประกอบการในกลุ่ม คลัสเตอร์ สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้ง่าย

๕. ทำให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรม เพราะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน มีการไปดูงานด้วยกัน หาความรู้ใหม่ๆด้วยกัน

๖. เกิดการแข่งขันภายใน คลัสเตอร์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงพัฒนา ประสิทธิภาพและคุณภาพธุรกิจ สินค้าและบริการของตนเองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อันเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดวิสัยทัศนธุรกิจตนเองให้กว้างออกไป เป็นการเรียนรู้อย่างรวบรัด รวดเร็วจากเพื่อนธุรกิจในคลัสเตอร์ด้วยกัน

๗. ส่งเสริมให้เกิดการเริ่มต้นและขยายตัวของธุรกิจใหม่ เพราะกลุ่มสมาชิกในคลัสเตอร์ ก็คือแรงบันบาลใจใหม่ๆ ทำให้เกิดความอยาก ความต้องการ และเติบโตในตัวเรา จนนำไปสู่ความกล้า ที่จะคิดและทำอะไรใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม การรวมตัวกันของสมาชิกในกลุ่ม คลัสเตอร์ ในบ้านเรา ยังต้องพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายคนยังคิดว่าเป็นสิ่งใหม่ ทั้งที่ในต่างประเทศนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว

แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้น ดุเดือดขึ้น ทำให้การสู้โดยลำพังด้วยตัวเราเป็นเรื่องยากและหนักหนาเกินกว่าจะสู้ให้ชนะได้  การรวมตัวกันของธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในรูปแบบของคลัสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กระดับตำบลหรือขนาดจังหวัดและภาค จึงเป็นเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง…