ดร.พนม ปีย์เจริญ
มีหลายคนทีทำธุรกิจแล้วไปได้ไม่ถึงไหนหรือไม่เติบโตเท่าที่ควร อาจจะด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจภายในประเทศไม่เอื้ออำนวย บ้างก็อ้างว่าอาจเป็นสภาพทางการเมืองในบ้านเราเลยมีผลทำให้ธุรกิจไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน แต่เมื่อสังเกตุดู ในช่วงที่เศรษฐกิจดีบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ ธุรกิจก็ไม่เห็นเติบโตเท่าที่ควรเหมือนอย่างคู่แข่งรายอื่นๆเขา ความจริงอาจมีปัจจัยแวดล้อมหลายสาเหตุ แต่ในที่นี้ขอนำเอาปัจจัยที่เป็นข้อเท็จจริงที่พบเสมอๆ ที่ทำให้ธุรกิจไม่ขยับเขยื้อนเติบโตไปไหนของหลายบริษัทมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้อ่าน ว่าสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมากสามารถทำให้ธุรกิจเราล้มเหลวหรือเติบโตแบบช้าๆชนิดคลานไปเรื่อยๆเพราะอะไร
- ทำธุรกิจไม่ถึงลูกถึงคน
เป็นนักธุรกิจต้องถึงลูกถึงคน ชนิด “ กัดไม่ปล่อย ” เมื่อลงมือทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ต้องรู้ให้ได้ , รู้ให้จริง , รู้ให้ลึก , รู้ให้สุด
อย่าทำธุรกิจแล้วทำตัวรักสบาย ปล่อยวางให้คนอื่นควบคุมดูแลแทนเราตั้งแต่เริ่ม ชนิดทำแทนเราทุกอย่าง โดยที่เราไม่รู้อะไรเลย เกิดปัญหาอะไรก็แก้ไม่ได้เพราะไม่รู้ที่มาที่ไปของปัญหา เพราะไม่ได้จับมาตั้งแต่ต้น หรือบางที่เกิดปัญหาจากคนที่เราวางใจให้ดูแลแทนเรา ก็ยากเกินที่จะเยียวยาแล้ว ท้ายที่สุดก็จะเกิด โศกนาฐกรรมอย่างช่วยอะไรไม่ได้
เพราะฉนั้นถ้าลงมือทำธุรกิจไม่ว่าจะเล็ก จะใหญ่ ขนาดไหนต้องจับมัน ต้องใกล้ชิด ในทุกสถานการณ์ เข้าใจถึงพนักงานทุกคน เข้าถึงปัญหาที่เกิดได้ทุกปัญหาและแก้ได้ถูกจุด แม้จะไม่ถูกใจบางคนก็ตาม เพื่อหยุดการลุกลามของปัญหา และต้องกัดไม่ปล่อยทั้งช่องที่กำลังเกิดปัญหา หรือแม้กระทั่งในช่วงที่ธุรกิจเฟื่องฟู ต้องรู้ให้ได้ รู้ให้ชัด รู้ให้ลึก รู้ให้หมด ว่ามันเกิดปัญหาอะไร ต้นเหตุมาจากอะไร มันเป็นปัญหาอะไร แล้วแก้ให้ตรงจุด ชนิดเกาให้ถูกที่คัน
แม้แต่ในช่วงที่ธุรกิจเฟื่องฟู สินค้าเราขายดี เราก็ต้องรู้ให้ลึกว่า ขายดีเพราะสินค้าของเรา หรือจากการขายของเรา หรือแผนการตลาดของเรา หรือเพราะการบริหารของเรา ฯลฯ การเป็นเจ้ากิจการในอนาคตต้องวิเคราะห์ให้ลึกกว่าที่เคยวิเคราะห์ในทุกด้าน
- เรียนรู้ให้จริงในสิ่งที่เป็นหัวใจของธุรกิจ
เมื่อเราเป็นเจ้าของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง สิ่งที่เราต้องรู้ให้ได้ คืออะไรเป็นหัวใจของธุรกิจ เมื่อรู้แล้วก็จงเรียนรู้ให้ถึงขนาด “ ลงมือทำเองได้ ”’
เพราะเมื่อถึงวันหนึ่ง บุคลากรที่อยู่ตรงหัวใจของธุรกิจหายไป จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราก็สามารถเข้าไปทำแทนได้ โดยที่ธุรกิจไม่กระทบกระเทือนใดๆ จนกว่าเราจะสร้างคนใหม่เข้ามาแทนได้ เราจึงจะถอยออกมาอยู่ในที่ตั้งเดิม เช่นธุรกิจร้านอาหาร หรือภัตราคาร ถ้าหัวหน้ากุ๊กลาออกพร้อมผู้ช่วย เราต้องโดดลงไปทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากุ๊กได้แล้วสร้างหัวหน้ากุ๊กและผู้ช่วยกุ๊กขึ้นมาใหม่
เพื่อให้มาทำหน้าที่แทนคนที่ลาออกไป จากนั้นจึงหาหรือฝึกคนที่มีฝือมือขึ้นมาเป็นหัวหน้ากุ๊กคนเดิมที่ลาออกไปด้วยโดยที่ลูกค้าก็ไม่หายไปไหน ร้านก็ไม่ต้องปิดรอกุ๊กคนใหม่ เพราะเรามีฝือมือไม่แพ้กุ๊กที่ลาออกไปหรือทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ ปัญหานี้แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งก็ไม่มีปัญหา เพราะเราสามารถโดดลงมาทำแทนได้ พร้อมทั้งยังสามารถฝึกสอนเด็กใหม่ๆ ให้ขึ้มมาทำแทนได้ตลอดเวลา
เพียงแต่ว่า เราต้องกลับมาวิเคราะห์สาเหตุด้านอื่นๆ ด้วยว่าบุคลากรที่เป็นหัวใจของธุรกิจลาออกเพราะสาเหตุอะไร ? แล้วรีบแก้ปัญหา ให้ถูกจุดไปพร้อมๆกันด้วย
- ปรับตัวธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์
โลกธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องปรับตัวให้ทันกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันเพราะมิฉนั้นเราจะวิ่งตามเขาไม่ทัน
– ทั้งการปรับเปลี่ยนชนิดของสินค้า
– หีบห่อ หน้าตา ของสินค้า
– ช่องทางการตลาดใหม่ๆ ของการขายสินค้า การกระจายสินค้า การโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า และองค์กรเป็นต้น
เพราะโลกของสื่อที่เป็นสื่อใหม่ๆ ( New Media ) ที่เป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าได้เปลี่ยนไปแล้ว จากสื่อทีวี 50 นิ้ว มาอยู่ในมือผู้ใช้โทรศัพท์จอ 4 – 5 นิ้ว ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่เปิดรับสื่อต่างๆ จากจอมือถือมากกว่าจอทีวีไปเรียบร้อยแล้ว เพราะสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแต่เราต้องปรับรูปแบบการเข้าถึงลูกค้าในโลกอนาคต ให้น่าสนใจและน่าติดตามเท่านั้นเอง
ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมาพิจารณาคู่แข่งกับธุรกิจของเรา
– ทั้งคู่แข่งทางตรง คือ คู่แข่งที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกับเรา ว่าเขามีการพัฒนาในด้านต่างๆไปถึงไหนกันแล้ว เพราะเขาคือคนที่จะมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของเราไป เราก็ต้องปรับตัวให้ทันเขา
– คู่แข่งทางอ้อม เป็นคู่แข่งที่อาจไม่ใช่ธุรกิจชนิดเดียวกับเรา แต่เป็นธุรกิจที่สามารถมาแย่งลูกค้าเราไป อย่างไม่รู้ตัว เช่น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ กับธุรกิจมือถือสมาร์ทโฟน ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นคู่แข่งกันได้ในอดีต แต่ในปัจจุบันและอนาคต เริ่มจะเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราสามารถดูหนังได้จากมือถือ เสียเงินก็ถูกกว่า ง่ายกว่า สะดวกกว่า ฯลฯ อนาคตถ้ามีการพัฒนาไปไกลมากกว่านี้ สมาร์ทโฟนอาจจะมีผลทำให้คนเข้าโรงหนังน้อยขึ้นอย่างเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ก็เป็นได้
แต่ที่แน่ๆ ผลกระทบในวันนี้ของสมาร์ทโฟนมีผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ค่อนข้างชัดเจนมาก เพราะเด็กรุ่นใหม่ดูทีวีน้อยลงทุกวันแต่ให้ความสนใจหน้าจอสามร์ทโฟนในเวลาที่มากขึ้น จนทำให้บริษัทโฆษณาหันมาให้ความสนใจวางแผนโฆษณาในหน้าจอสมาร์ทโฟนที่เป็น New Media มากกว่าจอทีวี เพราะเข้าถึงได้เร็ว เข้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ในราคาค่าโฆษณาที่ถูกกว่า
เพราะฉนั้นในฐานะที่เราเป็นเจ้าของธุรกิจต้องศึกษาเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเราทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมทั้งบริหารจัดการพัฒนาธุรกิจเราให้เดินไปข้างหน้าในระดับเดียวกันกับคู่แข่งหรือก้าวไปข้างหน้าเขาได้ยิ่งดี
- ทำสิ่งใหม่ที่แตกต่าง
หลายธุรกิจไม่กล้าทำสิ่งใหม่ที่ต่างไปจากเดิมเพราะเกรงใจบรรพบุรุษที่เป็นผู้ให้กำเนิดธุรกิจ
ต้องเรียนว่าสิ่งดีๆที่บรรพบุรุษทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการทำธุรกิจ การบริหาร หรือสินค้าและบริการ ถ้าเป็นสิ่งดีก็ต้องรักษาไว้ ไม่ต้องไปปลี่ยนแปลงอะไร แต่อะไรที่เราสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งสินค้า บริการ หรือแม้กระทั่งกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ อันนี้ต้องทำเพราะถ้าไม่ทำ ธุรกิจของบรรพบุรุษ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต จะเป็นธุรกิจบอนไซอย่างนี้ไปตลอด
เพราะฉนั้นสินค้าดั้งเดิมที่เป็นต้นตำรับรักษาไว้ อาจจะมีการปรับปรุงหน้าตา หีบห่อ ให้ดูทันสมัยขึ้น แต่กับสินค้าที่เป็นนวัตรกรรมใหม่ บริการใหม่ๆ ที่รวดเร็วทันใจ อันนี้ต้องรีบนำออกมาใช้ ให้ทันสถานการณ์ มิฉนั้นธุรกิจเราจะมีที่ยืนในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันไม่ได้
- ไม่พร้อมอย่าขยาย
ธุรกิจบางธุรกิจ สามารถเพิ่มยอดขายได้ดีกว่าในเวลาที่เท่ากัน กับการเพิ่มจำนวนสาขาให้เกิดความสะดวก สบาย ให้กับลูกค้าในการเข้าถึงสินค้าได้ง่าย
แต่สำหรับธุรกิจบางธุรกิจ ถ้าไม่พร้อมจะขยาย อย่าขยายเป็นอันขาด เพราะเท่ากับการเปิดช่องทาง การทำลายตัวเองให้เร็วขึ้น เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ถ้าไม่พร้อมทั้งด้านการบริหาร การควบคุมคุณภาพ ความอร่อย การให้บริการ ถ้าไม่พร้อมอย่าขยายสาขาเป็นอันขาดเพราะต้นตำรับทำชื่อเสียงไว้ดีมาก ลูกค้าติดใจในรสชาติและบริการ แม้จะไม่สะดวก เพราะเป็นร้านดั้งเดิมที่มีขนาดเล็กแต่ลูกค้าก็พร้อมจะรอคิวชิม เพราะอร่อยมายาวนาน ด้วยกุ๊กฝือมือเยี่ยม วัตถุดิบ คุณภาพ
แต่พอขยับขยายร้านไปเปิดสาขาที่ 2 กุ๊กฝือมือไม่ถึง เด็กๆให้บริการไม่เข้าใจและไม่เข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง เหมือนบุคลากรที่ร้านต้นตำรับอันนี้อันตรายมาก
ถึงเรียนตั้งแต่ต้นว่า ถ้าไม่พร้อมอย่าขยาย รอจนกว่าจะพร้อมเมื่อไหร่นั่นแหละครับ จึงขยับขยายสาขาที่ 2 ที่ 3 ไปเรื่อยๆ และบอกกับตนเองไว้เสมอว่า
“ ขยายแล้วต้องดี ขยายแล้วไม่ดีอย่าขยาย ”
นี่เป็น 5 ปัจจัยที่สำคัญ ที่จะเป็นตัวชี้ว่าธุรกิจจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้