เทคนิคการตั้ง “สโลแกน” ให้ติดปาก


สโลแกนดีๆ สักหนึ่งประโยคที่ติดหูผู้บริโภคมีประโยชน์มากกว่ามีนักการตลาดหัวกะทิอยู่ในบริษัทถึง 10 คนเลยทีเดียว ทุกบริษัทจึงสมควรต้องมีสโลแกนไว้เป็นของตัวเอง แนวคิดของการตั้งสโลแกนให้ติดปากผู้บริโภคควรประกอบด้วยหลักการสำคัญ 8 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.สโลแกนต้องครบถ้วน โดดเด่น และดึงดูด

มนต์เสน่ห์ของสโลแกนที่ยอดเยี่ยมและติดปากผู้บริโภคมีเคล็ดลับอยู่ที่รูปประโยคต้องโดดเด่นและมีพลังในตัวเองอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสะกิดความคิดของผู้บริโภคให้เข้ามาสนใจพร้อมจดจำได้ในทันที เช่น LG : Life’s Good

2.บ่งบอกตัวตนของธุรกิจ

สโลแกนที่ดีและมีคุณภาพต้องสามารถสื่อความหมายได้อย่างตรงตัวและบอกที่มาที่ไปอย่างครบถ้วน เพราะจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ทันทีว่าสโลแกน ที่พบเห็นเกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทใด ตัวอย่าง เช่น “ถุงเท้าคาร์สัน : ถุงเท้าที่ทุกๆ คนใส่กัน” เป็นต้น

3.ต้องสั้นและกระชับ

สโลแกนบริษัทจะเป็นที่จดจำก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการสามารถออกแบบรูปประโยคให้สั้นและกระชับมากที่สุด โดยความยาวของสโลแกนไม่ควรจะเกิน 12 ตัวอักษรจะเป็นการดีที่สุด อาทิ “ฟูจิ สั่งเลยอร่อยทุกอย่าง”

4.มีความหมายมากกว่าแค่ตัวอักษร

สโลแกนต้องแสดงออกได้ถึงจิตวิญญาณและสัมผัสได้ถึงพลังที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจดจำสโลแกนได้ในห้องที่ลึกสุดของหัวใจอีกด้วย เช่น บริษัทรถยนต์   โตโยต้าที่ใช้สโลแกนหลักว่า “เราให้คุณมากกว่ารถยนต์” เป็นต้น

5.ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี

เพราะสโลแกนจะทำหน้าที่เป็นเหมือนประตูบานแรกที่ใช้เปิดรับผู้บริโภคสู่อาณาจักรธุรกิจ จึงเหมือนเป็นตัวแทนที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการของเรา ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีสโลแกนที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์อันยอดเยี่ยมในการประกอบธุรกิจด้วย เช่น “การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า” เป็นต้น

6.เป็นทั้งเอกลักษณ์ และ อัตลักษณ์

ผู้บริโภคมักสับสนและแยกแยะไม่ออกว่าธุรกิจแต่ละอย่างแตกต่างกันอย่างไร การเขียนสโลแกนให้มีเอกลักษณ์พร้อมทั้งอัตลักษณ์เป็นการเฉพาะจึงมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปนี้ได้ อาทิ “ไทยประกันชีวิต บริษัทของคนหัวคิดทันสมัย” เป็นต้น

7.หลีกเลี่ยงการบัญญัติศัพท์ใหม่

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพยายามหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาดก็คือการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้เองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากผู้บริโภคมีประสบการณ์ความรู้ทางด้านภาษาที่แตกต่างกันจึงอาจทำให้เข้าใจความหมายของคำบางคำคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เราต้องการนำเสนอก็เป็นได้

8.ต้องติดปากผู้บริโภค

หากผู้ประกอบการสามารถทำได้ทั้ง 7 ขั้นตอนที่กล่าว ขั้นตอนที่ 8 ก็จะเกิดขึ้นตามมาเองในที่สุด ทั้งนี้ความสมดุลและลงตัวในการใช้ภาษามักเป็นแรงกระตุ้นให้สโลแกนถูกเอ่ยถึงอยู่เป็นประจำ เช่น “AIS ทุกที่ทุกเวลา” หรือ “แมคโดนัลด์ ความสุขล้นเมนู” เป็นต้น

ที่มา : Inquity