ทำธุรกิจให้สำเร็จ…ต้องเริ่มต้นที่ “ทำไม”


untitled-1

พยัต วุฒิรงค์

 

 

 

 

 

“ทำไม” คือ จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ

 

Start with Why สอนเราว่า ก่อนที่เราจะทำอะไร เราต้องเริ่มที่ WHY > HOW > WHAT หรือ ทำไม อย่างไร และอะไรมากกว่าการเริ่มต้นที่ WHAT > HOW > WHY อะไร อย่างไรและทำไม แบบที่เรามักจะทำกันจนเป็นนิสัย

 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

 

เมื่อเริ่มต้นที่คำถาม คุณจะพยายามหาคำตอบ เมื่อคุณหาคำตอบ คุณจะได้ลงมือทำ!!!

 

ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เรามักเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “กินอะไรดี” “ไปไหนดี”

ในการเริ่มต้นการทำงานทุกวัน เรามักเริ่มต้นด้วยคำถามในใจว่า “ทำอะไรดี”

พอคิดแบบนี้ สิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวัน และ ชีวิตการทำงาน ก็จะกลับมาสู่สิ่งที่คุ้นเคย กลายเป็นอะไรที่จำเจ ไปโดยปริยาย

 

สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับคนที่ประสบความสำเร็จ

Simon Sinek ได้เขียนหนังสือชื่อ Start with WHY ที่บอกว่า ก่อนเราลงมือทำอะไร เราต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไม” หรือ “เพราะอะไร”

หรืออาจเรียกว่า “ทำไม” เปลี่ยนโลก

 

พี่น้องตระกูล Wright ตั้งคำถามว่า ทำไมนกถึงบินได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครื่องบิน

 

Steve Jobs ตั้งคำถามว่า ทำไมโทรศัพท์มือถือต้องมีปุ่ม ทำไมต้องมีไว้คุยอย่างเดียว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Smart Phone และ Iphone ที่มีทั้งกล้อง ทั้งที่จดโน้ต เกม เพลง และอื่นๆ อีกมากมาย

 

Mark Zuckerberg ตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่รู้ว่าผู้หญิงในมหาวิทยาลัยมีใครบ้าง แต่ละคนชอบทำอะไร กินอะไร เล่นกีฬาอะไร ชอบไม่ชอบอะไร กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Facebook ที่ไม่ใช่แค่รู้ว่าผู้หญิงในมหาวิทยาลัยตัวเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แต่ทำให้เรารู้จักพฤติกรรมและกิจกรรมของคนทั่วโลก

 

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ทำไม” ทั้งสิ้น

 

คำถาม “ทำไม” นี้ไม่ได้ใช้สำหรับตัวเราเองเท่านั้น แต่ยังใช้สำหรับการพัฒนาทีมงานได้ด้วย

 

“ทำไม” ถึงคิดเช่นนั้น

“ทำไม” ไม่ลองตั้งเป้ายอดขายให้สูงขึ้นล่ะ

“ทำไม” ต้องทำตามคู่แข่ง

 

คำถามเหล่านี้ทำให้ทั้งตัวเราเอง และลูกทีมเรา ต้อง “คิด” เป็นการสร้างความท้าทาย หรือ Challenge ให้เกิดขึ้น

 

เช้าวันหนึ่ง คุณตื่นขึ้นมา และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไม หรือ เพราะอะไร เราต้องตื่นตี 4 นั่งรถเมล์ 2 ชั่วโมงแล้วไปทำงานให้ทันเวลา

 

หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น

 

บางคนตอบว่า อ้าว..ไม่ทันแล้ว ก็ต้องรีบไปแปรงฟันไง จะได้ไม่สาย มัวแต่คิดเดี๋ยวก็ไปทำงานไม่ทันสิ

 

ตอบแบบนี้ก็คงไม่ผิด

 

ผมเคยถามคำถามนี้กับเพื่อนคนหนึ่งว่า ทำไมเค้าต้องตื่นตี 4 เพื่อไปทำงานให้ทัน 8 โมงเช้า ผมถามคำถามนี้ซ้ำๆ 1 เดือนเต็ม เพื่อให้เค้าตอบ

 

ทุกวันเค้าก็จะตอบผมว่า มันไม่มีทางเลือกว่ะ กรุงเทพก็รถติดแบบนี้ทุกวัน จะให้ทำยังไง

 

จนผมบอกเค้าว่า คิดสิคิด ตั้งสติแล้วคิดว่า ชีวิตเกิดมาทำไม เพราะอะไรเราถึงต้องทำแบบนี้

 

สุดท้ายเค้าก็เริ่มคิดว่า เค้าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ ทำงานใกล้บ้าน เปิดร้านของตัวเอง ขายของออนไลน์

 

…ตอนนี้เพื่อนคนนี้ก็รวยแล้วครับ กลายเป็นอาเสี่ยร้านส่งออกอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ เพียงเพราะ คำถามว่า “ทำไม” หรือ “เพราะอะไร” ต้องตื่นตี 4 เพื่อไปทำงานให้ทัน

 

คนเรามักไม่ชอบถามว่า “ทำไม” หรือ “เพราะอะไร” แต่มักจะยอมรับสภาพที่เป็นอยู่และพูดว่า ชีวิตนี้ช่างรันทดเสียเหลือเกิน ฝนก็ตก รถก็ติด ยอดขายก็ไม่เข้าเป้า

 

ทั้งหมดมันคือปลายเหตุของปัญหาทั้งหมด มันแก้ไม่ได้!!!

 

เราต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นของทุกอย่าง “เพราะอะไร” ยอดขายของเราจึงตก สินค้าไม่ดี พนักงานไม่เก่ง ทำเลไม่ดี ราคาสูงไป เมื่อเข้าใจสาเหตุแล้วถึงจะแก้ที่ผลได้

 

ญี่ปุ่นเค้าถึงบอกว่า เวลาจะแก้ปัญหา ให้ถาม “ทำไม” 5 ครั้ง เพื่อไปให้ถึงต้นตอของปัญหา ไม่ใช่ถามเพื่อหาเรื่อง แต่ถามเพื่อให้ได้เรื่อง (แก้ปัญหา) จนกลายเป็น เจ้าหนูจำไม ในการ์ตูนอิคิวซัง

 

หลังจากที่รู้ว่า “WHY” เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้นแล้ว เราต้องคิดต่อว่าเราจะทำมันอย่างไร จะแก้ปัญหาหรือทำงานให้สำเร็จได้อย่างไร หรือเรียกว่า HOW

 

สุดท้ายเวลาที่คุณจะทำอะไร คุณต้องรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นคืออะไร สิ่งที่ต้องการขายคืออะไร งานที่ต้องทำคืองานอะไร หรือที่เรียกว่า WHAT

 

WHAT คือ เรื่องที่ง่ายที่สุด เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่า กำลังทำอะไรอยู่ ขายสินค้าอะไร บริการอะไร ต้องการใครมาทำงานด้วย

 

จนบางครั้ง ด้วยความเคยชิน เราจึงมักเริ่มที่เราอยากทำอะไร มากกว่า เราทำไปทำไม

 

สุดท้ายสิ่งที่ทำไปก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เสียเงิน เสียเวลา แล้วค่อยมาคิดได้ว่า รู้อย่างนี้คิดก่อนดีกว่าว่าทำไปทำไม

 

เราเสียเวลาทำเรื่องผิวๆ มากจนลืมแก่นของมัน

 

สุดท้ายเรื่องผิวๆ ที่ทำก็ไม่ได้ทำให้ตัวเรา ทีมงานเรา หรือองค์กรเราบรรลุเป้าหมายเสียที เพราะมันคือผิว ไม่ใช่แก่น

 

ในการทำธุรกิจหรือทำอะไรซักอย่าง มีคำถามที่เราต้องถามตัวเองทุกครั้ง ถามทีละข้อไปเรื่อยๆ ตามลำดับ

 

  1. เราจะทำไปทำไม (WHY) เพราะอะไรเราถึงต้องทำแบบนี้ เราจะทำเพื่ออะไร แก้ปัญหาอะไร สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่คนอื่นทำแล้วหรือยัง ไม่ทำดีกว่ามั้ย

  2. เราจะทำอย่างไร (HOW) เป็นกระบวนการจาก 0 ถึง 10 ที่บอกว่า ลำดับในการทำมีอะไรบ้าง และเราต้องเตรียมอะไรบ้าง เงิน คน เครื่องจักร วัตถุดิบ

  3. เราจะทำอะไร (WHAT) สรุปแล้วอะไรคือสิ่งที่เราต้องการจะทำแน่ๆ

  4. เราจะทำเมื่อไหร่ (WHEN) เราจะทำตอนไหน เวลานี้เหมาะที่จะทำแล้วหรือยัง

  5. เราจะทำที่ไหน (WHERE) ที่ไหนคือที่ที่เราจะเริ่มทำ ฐานลูกค้าอยู่ที่ไหน กรุงเทพ ต่างจังหวัด ประเทศไทย อาเซียน จีน เอเชีย ยุโรป อเมริกาหรือทั่วโลก

  6. ใครจะทำร่วมกับเรา (WHO) ทีมที่เราต้องมีแน่ๆ มีใครบ้าง หรือเราจะลงมือทำคนเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบ

 

คำถาม 3 ข้อแรกเป็นข้อสำคัญที่เราต้องตอบให้ได้ หลังจากที่เราตอบคำถาม 3 ข้อแรกได้แล้ว เราจึงค่อยถามคำถามข้อ 4 5 6 ต่อไป

 

ถ้าตอบ 3 ข้อแรกไม่ได้ ก็ไม่ต้องคิดอะไรต่อ…จบครับ แสดงว่า มันไม่ตอบโจทย์เรา และเราก็ไม่ได้ตอบโจทย์มัน

 

คำถามทั้งหกข้อทำให้เราเริ่มคิดว่า สิ่งที่ต้องการทำ มันควรหรือไม่ควรทำ และวาดภาพภาพแรกในหัวของเราก่อน

 

ผมขอยกตัวอย่างการจัดเริ่มต้นคิดกิจกรรมโครงการประกวดแผนธุรกิจของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยคำถาม 6 ข้อนี้

 

  1. ถาม WHY ทำไมการประกวดแผนธุรกิจถึงต้องทำในมหาวิทยาลัย

ตอบ ถ้าจัดในมหาวิทยาลัย มันก็เป็นแค่ความคิดและรายงาน ไม่ได้ลงมือทำจริง ไม่เจอลูกค้าจริง เป็นแค่เหตุการณ์จำลอง ไม่เจ็บจริง (ทำแล้วขายไม่ได้ ทำแล้วลูกค้าติว่าไม่ดี)

 

  1. ถาม HOW เราจะทำอย่างไรให้นักศึกษาได้ทำจริง

ตอบ ให้นักศึกษาเสนอแผน และทำสินค้าออกมาจริงๆ ได้เจอลูกค้าจริงๆ ออกบูธจริงๆ ลงทุนจริงๆ

 

  1. ถาม WHAT เราจะทำอะไรล่ะ

ตอบ เช่าที่ในห้องสรรพสินค้าจริง ออกบูธ ตกแต่งหน้าร้าน มีลูกค้ามาเดิน และมีกรรมการมาตัดสินจริงๆ

 

  1. ถาม WHEN เราจะทำเมื่อไหร่ล่ะ

ตอบ ก่อนนักศึกษาเรียนจบ ต้องทำธุรกิจเป็น ทำสินค้าเป็น ตั้งราคาได้ คำนวณกำไรขาดทุนได้

 

  1. ถาม WHERE ทำที่ไหน

ตอบ ห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ มหาวิทยาลัย คือ ศูนยฺ์การค้า Zpell @ Future Park รังสิต

 

  1. ถาม WHO ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง

ตอบ อาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ ห้างสรรพสินค้า สรุปว่า ทุกคนต้องช่วยกันทำ เพราะนี่คือของจริง ทำจริง มีชื่อจริง เสียชื่อจริง

 

ที่ผมยกตัวอย่างนี้บางคนอาจคิดว่ามันก็แค่การเรียน ผมอยากว่า การเริ่มต้นธุรกิจก็ไม่ต่างกัน ทุกอย่างเริ่มจากจุดเล็กๆ ทั้งนั้น

 

ทั้งหมดคือการทำธุรกิจ ฝึกให้นักศึกษาลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่เขียนอะไรก็ได้ในกระดาษ

 

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ใครที่ต้องการทำธุรกิจ ไม่อยากเป็นลูกจ้าง ต้องไม่คิดอย่างเดียว ต้องลงมือทำ ทำเล็กทำใหญ่ก็ต้องลงมือทำ

 

มีคำคมหนึ่งที่พูดเรื่องนี้ไว้ว่า ฝันให้ไกลไปให้ถึง…ก็ดี…ถ้าแรงยังไม่ค่อยมี แค่ “ฝันให้ใกล้แล้วไปให้ได้” ก่อน

 

หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าไม่เริ่มทำ แล้วจะสำเร็จได้อย่างไร

 

หลายครั้งผมนั่งคิดว่า ทำไมเราถึงชอบการทำไปเรื่อยๆ มากกว่าการคิดหาเหตุของการกระทำ คิดไปคิดมาก็ได้คำตอบว่า คงเป็นเพราะความเคยชินในความเป็นคนง่ายๆ ของเรา ที่ไปไหนไปกัน เฮไหนเฮด้วย ไม่ค่อยต้องถามอะไรมาก ว่าจะไปทำไม มีทางไหนที่ดีกว่าหรือเปล่า ถามมากไปเพื่อนอาจไม่ให้ไป เราจึงเป็นคนที่ไม่ค่อยได้คิดวางแผนก่อนลงมือทำ สุดท้ายมันจึงได้แค่เปลือก ไปไม่ถึงกระพี้ แก้ปัญหาได้แค่ผิวเผิน แต่ไม่ลงลึกถึงต้นตอของปัญหาเสียที เพราะฉะนั้นครั้งต่อไป ก่อนเริ่มทำอะไร อย่าลืมเริ่มต้นที่ “ทำไม”…สวัสดีครับ