สปป.ลาว หนึ่งในประเทศสมาชิกสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย หากมองในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า สปป.ลาว ถือว่าเป็นตลาดที่นักลงทุนไทยอยากเข้าไปทำธุรกิจ เปิดตลาดใหม่ๆให้กับสินค้า ด้วยปัจจัยทั้งด้านระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับการใช้เป็นฐานผลิตด้านอุตสาหกรรมในอนาคต
นอกจากนี้ ด้วยภูมิศาสตร์ของสปป.ลาวที่สามารถเชื่อมโยง เป็นประตูเปิดไปยังประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา และจีน จึงยิ่งเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก และข้อได้เปรียบของสินค้าไทยที่คน สปป.ลาว รู้จักกันเป็นอย่างดี จากอิทธิพลของสื่อโฆษณาไทยที่มีการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์มา จึงทำให้คนสปป.ลาว นิยมซื้อสินค้าไทย
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการทำธุรกิจในสปป.ลาว ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะการทำธุรกิจในสปป.ลาวก็มีอุปสรรคอยู่เช่นกัน แล้วอุปสรรคเหล่านั้นมีอะไรบ้างมาดูกันเลยครับ
สินค้าไทยบางชนิดราคาสูง
สินค้าไทยบางชนิดมีราคาที่สูงกว่าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาจึงเลยเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงคู่แข่งอย่างประเทศจีนและเวียดนามได้เข้ามาสร้างโรงงานการผลิตสินค้า ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก
สินค้าไทยถูกปลอมแปลง
สินไทยบางชนิดถูกปลอมแปลงจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ โดนสินค้าที่มีการลอกเลียนแบบ คือ อะไหล่ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องอุปโภคบริโภคประเภทต่างๆ ซึ่งสร้างความสับสนเวลาเลือกซื้อของผู้บริโภค
ค่าขนส่งนำเข้าสูง-ส่งออกสูง
ในสปป.ลาว ใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะหลักในการขนส่งสินค้า จึงทำให้ค่าขนส่งและค่าบริการในการขนส่งนำเข้าสูง-ส่งออกสูง รวมถึงความเสี่ยงด้านความเสียหายของสินค้า เนื่องจากถนนหนทางในสปป.ลาวมีความทุรกันดาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานยังมีการพัฒนาไม่ทั่วถึง ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การคมนาคม และการสื่อสารยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
การนำสินค้าเข้าต้องดำเนินการผ่านบริษัทที่ได้รับอนุญาต
ผู้ประกอบการที่ต้องการนำสินค้าเข้ามาในสปป.ลาวต้องปฏิบัติตามระเบียบด้วยการดำเนินการผ่านบริษัทขาเข้า-ขาออก ซึ่งได้รับการอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของสปป.ลาวให้เป็นผู้นำเข้า ตามประเภทและหมวดหมู่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการผ่านบริษัทดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าบริการประมาณร้อยละ 2-3 ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า
ข้อมูลจาก: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์