กลุ่มธุรกิจ HORECA หรือ กลุ่มธุรกิจที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจโรงแรม (Hotel) ร้านอาหาร (Restaurant) กาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง (Café and Catering) ที่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยมูลค่ารวมในตลาดที่สูงถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี
โดยสัดส่วน 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ธุรกิจกลุ่มโรงแรมมีมูลค่าสูงถึง 527,000 ล้านบาท
ธุรกิจร้านอาหาร 385,000 ล้านบาท
และธุรกิจกาแฟ เบเกอรี่ ไอศกรีม จัดเลี้ยง 62,000 ล้านบาท ตามลำดับ
ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจ HORECA มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10-20%
ปริพัตร บูรณสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกวินน์ คอนซัลติ้ง จำกัด ระบุคาดการณ์ ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างและในประเทศ ส่งผลดีทำให้การตัดสินใจท่องเที่ยวมาไทย จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ปริพัตร บูรณสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกวินน์ คอนซัลติ้ง จำกัด
ขณะที่ China Effect หรือผลกระทบของทัวร์ศูนย์เหรียญ จะลดน้อยลง มีการปรับรูปแบบของทัวร์จีนจากเดิมเป็นกลุ่มกลายเป็นท่องเที่ยวอิสระมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจโฮเรก้าไทย โดยเฉพาะ SME เพราะนักท่องเที่ยวอิสระ จะชื่นชอบการท่องเที่ยวที่มีสไตล์ และค่าใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลล่าร์ หากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง จะส่งผลต่อการเติบโตธุรกิจโฮเรก้าเพิ่มขึ้น เพราะจะดึงนักท่องเที่ยวมาไทยหรือสั่งซื้อสินค้าที่มีคุณภาพจากไทยมากขึ้น
ด้านภาวะเศรษฐกิจในประเทศ แนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากความสงบในสังคม และหมดภาระหนี้สินจากการผ่อนจ่ายรถยนต์คันแรกของกลุ่มชนชั้นกลาง ควบคู่ไปกับนโยบายส่งเสริมการซื้อและใช้บริการของภาครัฐ ส่งผลให้มีความต้องการซื้อเพิ่มมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ความต้องการขายก็มีจำนวนมากเช่นกัน จึงเป็นสิ่งท้าทายของธุรกิจโฮเรก้า จะต้องเร่งสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์ให้ชัดเจนมากขึ้น
ด้านการเมืองและกฎหมายที่ส่งผลต่อธุรกิจโฮเรก้า ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นที่จับตามองในเรื่องการเลือกตั้งครั้งใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญจากประเทศจีน และการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับ ผู้บริโภคในประเทศ ได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐมาตรการด้านภาษี และการเมืองที่ยังสงบ ทำให้แนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี
ด้านสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อธุรกิจโฮเรก้า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ธุรกิจทุกระดับมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเท่าเทียมกัน และกระแสโลกในเรื่อง รักษ์โลก จะเพิ่มระดับมากขึ้น ส่งผลต่อการวางแผน จัดการ และออกแบบธุรกิจให้สอดคล้องเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้ง กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นตลาดที่น่าจับตามองในธุรกิจโฮเรก้า ซึ่งต้องให้ความสำคัญด้านการบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น นอกจากนี้ การขยายเมืองใหญ่และการเพิ่มขึ้นของระบบขนส่ง ทำให้ธุรกิจโฮเรก้า ขยายตัวตามไปด้วย และในสถานการณ์แห่งความเศร้าโศก โดยปกติธรรมชาติของคน จะต้องหาทางลดความเครียด (pressure relief) ทางออกที่ง่ายสุด คือ การออกมาช้อปปิ้ง รับประทานอาหาร พักผ่อน ทำให้เอื้อต่อธุรกิจนี้ด้วย
ด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อธุรกิจโฮเรก้า เมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นผ่านปลายนิ้ว ทำให้ธุรกิจอีคอมเมอร์ซเติบโต ผู้ประกอบการธุรกิจโฮเรก้าต้องพร้อมที่จะปรับตัว แต่ต้องไม่ลืมเรื่องความปลอดภัยในระบบ การจัดส่งสินค้า การบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขัน รวมทั้ง อาจจะจะเกิดคู่แข่งใหม่ๆ ขึ้นตลอด เช่น โรงแรม ก็จะมี Airbnb เป็นต้น
ด้านตลาดแรงงานที่ส่งผลต่อธุรกิจโฮเรก้า การไหลของแรงงานต่างชาติเข้ามาไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีเพียงพอต่อธุรกิจ แต่แรงงานในกลุ่มนี้ แบ่งได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับชำนาญการ ที่มีทักษะชั้นสูง เช่น งานบริการ กับ ระดับไร้ทักษะ ทำงานตามสั่ง ซึ่งแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไร้ทักษะ มีค่าจ้างถูก ขณะที่แรงงานไทย เป็นแรงงานมีความชำนาญ มีค่าจ้างสูงกว่า จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาแรงงานระดับไร้ทักษะ ให้เป็นชำนาญการ เพื่อดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ขณะเดียวกัน แรงงานระดับชำนาญการ ก็จะเป็นที่ต้องการตลาดมากขึ้น อาจเกิดการแย่งซื้อตัวในธุรกิจโฮเรก้าได้
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงภาคธุรกิจโฮเรก้า ประจำปี 2560 แบ่งได้ 5 ประการ ได้แก่
1) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นทดแทนรูปแบบเดิม และเสถียรภาพทางการเมือง
2) ความเสี่ยงด้านธุรกิจ การบริหารต้นทุนแรงงาน การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมโฮเรก้า และกำลังซื้อของผู้บริโภค
3) ความเสี่ยงด้านการเงิน กลุ่ม SME ต้องวางแผนการใช้เงิน กระแสเงินสด ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการลงทุนเพิ่มเติม
4) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน คุณภาพบริการที่ดีต้องรักษาแรงงานที่ดี โรคระบาด และความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพ
5) ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนคำนึงถึงทุกฝ่าย
ที่มา : เอเชีย โฮเรก้า