(7ธ.ค.16)
สตาร์บัคส์ได้เปิดเผยแผนกลยุทธ์ 5 ปี ต่อประชุม Starbucks Biennial Investor Conference ณ เมืองนิวยอร์ค โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2021 จะมีร้านสตาร์บัคส์ทั้งสิ้น 37,000 ร้านทั่วโลก ตลาดจะเติบโตที่ 10 เปอร์เซ็นต์ กำไรต่อหุ้น 15-20 เปอร์เซ็นต์ โดยในต่างประเทศจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 12,000 ร้าน
สำหรับสาขาในประเทศจีนคาดว่าจะมีร้านสตาร์บัคส์กว่า 5,000 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 เท่า
คุณ เบลลินดา หวัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสตาร์บัคส์ประเทศจีน กล่าวว่า ประเทศจีนเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของบริษัท และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ ปัจจุบันนี้สตาร์บัคส์มีสาขาในประเทศจีนประมาณ 2,500 สาขา ใน 118 เมือง มีการจ้างงานทั้งหมดราว 30,000 คนและให้บริการแก่ลูกค้ามากกว่า 5 ล้านคน/สัปดาห์
สำหรับการขยายตลาดในประเทศจีน สตาร์บัคส์ ได้ร่วมมือ กับ Tencent (บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มีบริษัทลูกอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ บันเทิง อินเทอร์เน็ต เกมส์ออนไลน์ รวมไปถึงบริการเสริมบนโทรศัพท์ โดยบริการที่เป็นที่รู้จัก เช่น บริการแชต (QQ. WeChat ,WeChat Pay) โดยตั้งแต่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา ลูกค้าสตาร์บัคส์ในจีน สามารถจ่ายค่าสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น Wechat ได้ เพื่อเป็นการยกระดับประสบการณ์และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ สตาร์บัคส์จะลงทุนสร้างฟีเจอร์ (Feature) ใหม่ในแอพพลิเคชั่น WeChat โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2017 เพื่อผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น WeChat สามารถส่งผลิตภัณฑ์สตาร์บัคส์เป็น ของขวัญ (Social Gift) ให้กับผู้ใช้งานวีแชทรายอื่นได้ โดยที่ผู้รับสามารถไปแลกรับของขวัญได้ที่ร้านสตาร์บัคส์สาขาใกล้บ้าน โดย ฟีเจอร์การส่งของขวัญออนไลน์ – ออฟไลน์ (online-to-offline) จะเปิดตัวและอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองเซี่ยเหมิน มีความเห็นว่า ร้านกาแฟสตาร์บัคถือว่าเป็นบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศจีน ในปี 1999 โดยประสบความสำเร็จอย่างมากและขยายการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ สตาร์บัคส์ประสบความสำเร็จในประเทศจีน คือ การมีกลยุทธ์การตลาดที่ไม่หยุดนิ่งและสอดคล้องไลฟสไตล์ของชาวจีน เช่น สตาร์บัคส์มีการออกแบบและผลิตสินค้าออกมาให้เข้ากับแต่ละเทศกาลสำคัญของจีน เช่น เทศกาลบะจ่าง เทศกาลไหว้พระจันทร์แม้ว่าบะจ่างและขนมไหว้พระจันทร์ในสตาร์บัคส์จะมีรสชาติแตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของจีน แต่สามารถทานคู่กับกาแฟได้อย่างกลมกล่อม นอกจากนี้ปัจจุบันชาวจีนจำนวนมากนิยมชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ สตาร์บัคส์ จึงได้ร่วมมือกับบริษัท Tencent ที่เป็นบริษัทรายใหญ่ในจีนด้านเทคโนโยลีโดยการให้บริการชำระค่าสินค้าบริการผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ WeChat Pay รวมถึงการให้บริการส่งของขวัญผลิตภัณฑ์สตาร์บัคส์ผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอดจนสามารถโปรโมทข้อมูลและรายละเอียดโปรโมชั่นผ่านทางแอพพลิเคชั่นได้อีกด้วย
สคต. ณ เมืองเซี่ยเหมิน จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทย ใช้ประโยชน์จากกรณีตัวอย่างข้างต้นในการ ยกระดับการตลาดและจำหน่ายสินค้าไทย และคิดค้นกลยุทธ์ด้านการตลาดใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง