SMEs ไทยอย่าช้า! 4 เทรนด์การเลือกซื้ออาหารของประชากรโลกปี 2017


ปีนี้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารชาวไทยได้เฮกันแน่นอน เพราะผลการคาดการณ์ถึงแนวโน้มธุรกิจมาแรงปี 2017 จากหลายสำนักชี้ชัดว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารจะกลายเป็นธุรกิจทำเงินอันดับต้นๆ ให้กับประเทศไทย

รวมทั้งการผลักดันนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของภาครัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารให้พร้อมผงาดเป็น 1 ในอาเซียน ซึ่งเริ่มแผนยุทธศาสตร์ด้วยการใช้จังหวัดอ่างทองเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารอย่างครบวงจรที่แรกใน AEC ภายใต้แนวคิด World Food Valley Thailand เน้นการดำเนินงานด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการบนเวทีโลก เพื่อเพิ่มผลผลิตการส่งออกจากปัจจุบัน 2% เป็น 4.5 – 5% ต่อปี ช่วยให้ผลรวมการส่งสินค้าในกลุ่มอาหารจากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 15 ของโลกเลื่อนมาเป็นอันดับที่ 5 และผลักดันให้ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารจากปัจจุบันอยู่อันดับ 13 มาติดอยู่ 10 อันดับแรกภายใน 10 ปีและอันดับ 1 ใน 5 อีก 20 ปี

เมื่อเห็นโครงสร้างการเติบโตของธุรกิจอาหารแบบนี้แล้ว อีกอย่างที่สำคัญก็คือช่องทางหรือโอกาสการสร้างกำไรในธุรกิจ ซึ่งสังเกตได้จากแนวโน้มความต้องการของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มาดูกันว่า 4 เทรนด์การบริโภคอาหารของประชากรโลก ปี 2017 ที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารต้องรู้เพื่อปรับตัวให้ทันมีอะไรบ้าง

  1. เน้นอาหารเพื่อสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงในอัตราส่วนผสมและกรรมวิธีการผลิต

ความต้องการแรกของผู้บริโภคในปีนี้จะเน้นรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด เน้นความเรียบง่ายแต่สดใหม่ปลอดภัย ลดการรับประทานโปรตีนเนื้อสัตว์ลง แต่จะหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น ลดอาหารที่มีไขมันเลว ให้ความสำคัญในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร มีความต้องการอาหารรูปแบบเฉพาะเจาะจง จนเกิดเป็นการผลิตอาหารสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักกีฬา ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้สูงอายุและผู้ป่วย

  1. บริโภคอาหารควบคู่กับการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นี่คือความได้เปรียบของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบ Social Enterprise หรือการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสังคม พัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคในอนาคตจะให้คุณค่าของอาหารมากขึ้น ผู้คนจะสนใจแหล่งที่มาของอาหารว่าปลอดภัยหรือไม่ และการนำอาหารเหลือทิ้งไปสร้างประโยชน์อย่างไร เช่น นำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ย สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

  1. เน้นความสะดวกในการรับประทานและมี packaging ที่สวยงาม

การตัดสินใจซื้ออาหารของประชากรโลกในปีนี้จะเน้นความสะดวกแบบ Fast-Casual อาหารจะลดขนาดลงแต่ยังคงคุณภาพ เหมาะสมกับการรับประทานสำหรับ 1 คนใน 1 มื้อ ไม่ได้นิยมความฟู่ฟ่าจานโตเหมือนในอดีต แต่จะหันไปให้ความสำคัญกับคุณค่าของแบรนด์ที่เลือกซื้อและรูปลักษณ์ความงามของแพ็กเกจจิ้ง โดยเฉพาะการสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์อันโดดเด่นผ่านสังคมออนไลน์ของผู้บริโภคกลุ่ม millennials aged (อายุ 18 – 34 ปี)

  1. ใช้ข้อมูลทางออนไลน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ

ในปีนี้ผู้บริโภคจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่ดึงดูดจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและมีโอกาสเติบโตสูงกว่าการประชาสัมพันธ์ทางออฟไลน์เพียงอย่างเดียว ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทัน เพราะการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 มีโอกาสและความหวังมากมายรอคุณอยู่ เพียงแต่ต้องเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต พร้อมทั้งเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายให้ได้ (Sub-Segmentation)