เชิญชมภาพยนตร์เรื่อง “THE FOUNDER อยากรวย ต้องเหนือเกม”


https://www.youtube.com/watch?v=UU9ngPRQXuY

ภาพยนตร์อิงจากชีวิตยุค 1950 ของ เรย์ คร็อก เซลส์แมนผู้เห็นศักยภาพในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์ของสองพี่น้อง แม็ค และ ดิ๊ค แมคโดนัลด์ เขาจึงซื้อต่อเพื่อนำไปขยายกิจการแฟรนไชส์ แล้วไต่เต้าตนเองจนกลายเป็นมหาเศรษฐีพร้อมแจ้งเกิดแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังจนถึงทุกวันนี้

หนังนำแสดงโดย ไมเคิล คีตัน ในบทของเรย์ คร็อก ผู้ประกอบกิจการที่แปรเปลี่ยนร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ไพศาลที่ขยายอาณาจักรไปกว่า 35,000 แห่งทั่วโลก ตามด้วย นิค ออฟเฟอร์แมน และ จอห์น คาร์รอล ลินช์ รับบท ดิ๊ค และ แม็ค แมคโดนัลด์ สองพี่น้องผู้ก่อตั้งร้านขายอาหารฟาสต์ฟู้ดในอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
อีกทั้งหนังเรื่องนี้ยังได้ ลอร่า เดิร์น ในบทอีเธล ภรรยาคนแรกของเรย์ คร็อก และ ลินดา คาร์เดลลินี ในบทของโจน สมิธ ตามด้วย แพทริก วิลสัน ในบทของโรลลี่ สมิธ หนึ่งในผู้ประกอบการแฟรนไชส์ และ บี.เจ โนแวค รับบทแฮรี่ โซนเนบอร์น
หนังกำกับการแสดงโดย จอห์น ลี แฮนค็อก (The Blind Side, Saving Mr. Banks) เขียนบทโดย โรเบิร์ต ดี ซีเกล (The Wrestler)

กว่าจะเป็นตำนานผู้ก่อตั้ง
จุดเริ่มต้นมาจากผู้อำนวยการสร้าง ดอน แฮนด์ฟิลด์ ฟังเพลงชื่อว่า “Boom, Like That” ของนักร้อง มาร์ค น็อปเฟลอร์ แล้วท่อนเพลงบางท่อนก็สะท้อนชีวประวัติของเรย์ คร็อกที่แฮนด์ฟิลด์เคยอ่านหนังสือ ลงรายละเอียดว่าจากเซลส์แมนขายเครื่องปั่นมิลค์เชค เจอกับสองพี่น้องแมคโดนัลด์ที่กำลังทำร้านฟาสต์ฟู้ดในซาน เบอร์นาร์ดิโนแล้วปลุกไอเดียที่จะขยายเป็นกิจการแฟรนไชส์
“มันเป็นเรื่องราวน่าติดตามเกี่ยวกับสองพี่น้องผู้สร้างสรรค์บางสิ่ง จากนั้นนักธุรกิจเข้ามายกระดับไปอีกขั้น จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างผู้สร้างสรรค์และนักธุรกิจ เรื่องราวนี้จะเผยบทสะท้อนและการวางแผนดังกล่าว”
แฮนด์ฟิลด์จึงศึกษาเรื่องราวทั้งเรย์ คร็อกและสองพี่น้องแมคโดนัลด์เกี่ยวกับตัวละครและแนวคิดของหนังที่ต้องการนำเสนอ แล้วพบว่าต่างฝ่ายมีรูปแบบของทุนนิยมที่แตกต่างกัน “สองพี่น้องแมคโดนัลด์ออกจะเป็นทุนนิยมยั่งยืน ราวกับว่าเราจะสร้างชิ้นงานที่ยอดเยี่ยม เราจะดูแลคนงาน ตรงข้ามกับเรย์ คร็อกที่คุณโยนเขาไปในป่าดงดิบ เขาจะตัดต้นไม้ให้หมดและออกมาพร้อมกับกระเป๋าที่มีเงินฟูฟ่อน” และแก่นแท้ที่แฮนด์ฟิลด์สนใจคือเรื่องราวของการปะทะกันระหว่างสองพี่น้องผู้ประกอบการที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และผู้ประกอบการที่ไร้ความเมตตาซึ่งจะไม่มีคำว่าหยุดจนกว่าจะประสบความสำเร็จ แม้ว่าแฮนด์ฟิลด์ยังชื่นชมเรย์ คร็อก ชายผู้เปี่ยมล้นด้วยแรงขับเคลื่อน พละกำลังและความมั่นใจที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อจะสร้างอาณาจักรธุรกิจ
แฮนด์ฟิลด์กล่าวว่าเขาสนใจเรื่องราวนี้มา 5 ปีก่อนจะบังเอิญค้นเจอในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับบทสัมภาษณ์กับดิ๊ค แมคโดนัลด์ซึ่งอ้างอิงว่าเขาเป็นเจ้าของโรงแรมเล็กๆในแมสซาชูเซตส์ แฮนด์ฟิลด์จึงโทรหาเจ้าของโรงแรมว่าเป็นตนเองผู้อำนวยการหนังและอยากทำหนังเกี่ยวกับครอบครัวแมคโดนัลด์และเจ้าของธุรกิจผู้ส่งข้อความไปยังครอบครัวของแมคโดนัลด์ นี่เองที่ทำให้เขาได้รู้จักกับ เจสัน เฟรนช์ เหลนของดิ๊คผู้เคยกล่าวว่าเขารอคอยเป็นเวลา 50 ปีเพื่อให้ใครสักคนมาเล่าเรื่องราวนี้ ดิ๊คและแม็คจากโลกไปหลายปีดังนั้นเจสัน เฟรนช์จึงรับหน้าที่ที่จะคุยกับผู้อำนวยการสร้างหนังเพื่อจะนำเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นจอเงิน
กว่าจะได้เรื่องราว แฮนด์ฟิลด์ได้รวบรวมหลักฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นจดหมาย รูปถ่าย เทปบันทึกเสียงของสองพี่น้องแมคโดนัลด์และเรย์ คร็อก โดยแฮนด์ฟิลด์ยืนยันว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับฟาสต์ฟู้ด แต่เป็นระบบทุนนิยมต่างหาก
“มันเป็นหนังเกี่ยวกับอเมริกาและทุนนิยม มันเกี่ยวกับการไขว่คว้า การล่มสลายของความมีศีลธรรมอันดีและความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องราวที่เผยให้เห็นความฝันแบบอเมริกันที่คุณสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม” แอรอน ไรเดอร์ ผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในประธานบริษัท FilmNation Entertainment กล่าว
แล้วผู้จะเขียนเรื่องการไต่เต้าของเรย์ คร็อก จากเซลส์แมนร่อนเร่สู่ประธานอาณาจักรฟาสต์ฟู้ดได้ก็คือ โรเบิร์ต ดี ซีเกล “ผมชอบเขียนเรื่องราวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่นะ และการกำเนิดแมคโดนัลด์ก็แตะแนวคิดยิ่งใหญ่ของความเป็นอเมริกันได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมรถยนต์ ความเป็นยุค 1950 การกำเนิดชานเมืองและฟาสต์ฟู้ด รวมถึงทุนนิยมและความละโมบ มันมีความยิ่งใหญ่ในตัวเรื่องราวนี้ เป็นเรื่องราวที่ยังไม่เคยเปิดเผยเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของฟาสต์ฟู้ดที่สะท้อนว่าเราบริโภคอย่างไร” มือเขียนบทกล่าว
“เรย์ คร็อก เป็นคนที่ยิ่งใหญ่ ซับซ้อน น่าประทับใจมาก เขาเป็นคนที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาสิ่งที่ต้องการ” ซึ่งไม่เพียงแต่เขาจะหาข้อมูลเกี่ยวกับเรย์ คร็อกและแมคโดนัลด์ มือเขียนบทยังถ่ายทอดอเมริกายุค 1950 อีกด้วย “หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ประเทศนี้ก็เหมือนระเบิดบูม มันเป็นยุคของวัฒนธรรมร็อกแอนด์โรล วัฒนธรรมยานยนต์ วัฒนธรรมเยาวชน และไดรฟ์ อิน” และซีเกลก็มองว่า เรย์ คร็อกก็คือหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนสำคัญของวัฒนธรรมยุค 50 ไปยัง 1960, 1970 และเหนือยิ่งกว่านั้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเรื่องราวของเรย์ คร็อกและสองพี่น้องแม็คโดนัลด์ก็นึกถึงเรื่องราวของมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์กและปัญหาการก่อตั้งโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นบทภาพยนตร์เรื่อง The Social Network ของเดวิด ฟินเชอร์ “ผมชอบตัวละครที่ดูมืดหม่น ซับซ้อน และชีวิตยุ่งเหยิง แล้วเมื่อดอน แฮนด์ฟิลด์และผมปรึกษากัน เราก็มองเห็นความคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการสร้างตัวละครสุดประทับใจผู้เปลี่ยนแปลงอเมริกา เปลี่ยนโลกทั้งใบและทอดทิ้งเศษซากไว้เพียงเบื้องหลังของเขา” ในการเขียนบท ซีเกลก็ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังอย่าง There Will Be Blood, Citizen Kane และ Tucker: The Man and His Dream และหนังสืออย่าง The Power Broker: Robert Moses and the Fall of New York ของ โรเบิร์ต เอ คาโร ที่นำเสนอชีวิตของผู้มีอิทธิพลด้านอุตสาหกรรม
ด้วยเรย์ คร็อกมีชีวิตยืนยาวมีช่วงเวลาที่หลากหลาย ดังนั้นการวางโครงสร้างของหนังจึงเป็นงานที่ท้าทาย ซีเกลอธิบายว่า “มันไม่มีความจำเป็นที่จะโฟกัสไปยังช่วงชีวิตเบื้องต้นมากนัก ดังนั้นจุดเริ่มต้นของหนังก็คือเซลส์แมนตกอับอายุจวบจนใกล้เกษียณ แล้วในช่วนั้นก็ได้พบกับสองพี่น้องแมคโดนัลด์ที่เปิดกิจการร้าอาหารฟาสต์ฟู้ด” แล้วเมื่อพบกับสองพี่น้องแมคโดนัลด์ เขาก็รู้ว่าเขามีโอกาสที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ “มันคือการไถ่ถอนสำหรับชีวิตที่ยากลำบากอ้างว้างในฐานะเซลส์แมนร่อนเร่” นอกจากนี้ซีเกลยังชื่นชมถึงผู้ประกอบการมากวิสัยทัศน์ว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาล้มลง เขาก็แค่ลุกขึ้นยืนและตอบโต้กลับ “แม้ภายนอกเขาจะดูธรรมดาและไม่ได้ถูกกำหนดให้ได้รับบางสิ่งที่วิเศษ เขากลับเชื่อว่าต้องมีจุดประสงค์ครั้งนั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาต้องขยี้ให้ละเอียดออกมา นี่คือชื่อชีวประวัติของเขา Grinding it Out เขาเป็นนักบด และมีแรงขับเคลื่อน เขารู้สึกว่าต้องมีโชคชะตาและมีความศรัทธาซึ่งเป็นทุกอย่างทั้งหมดต่ออะไรสักอย่าง”
สำหรับชื่อหนังThe Founder ที่อ้างอิงเรย์ คร็อก ในฐานะผู้ก่อตั้งแมคโดนัลด์ คนทำหนังกล่าวว่ามันแฝงด้วยการเย้ยยัน ดอน แฮนด์ฟิลด์กล่าวว่า “เรย์ คร็อกไม่ได้ก่อตั้งแมคโดนัลด์มากับมือ เขาไม่ได้วางระบบการทำอาหารเร่งด่วน ไม่ได้ตั้งร้านอาหาร แต่หากปราศจากเขา แมคโดนัลด์ก็คงไม่ได้เป็นแบรนด์ดังทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้” ซีเกลกล่าวเสริมว่า “เรย์ชื่นชมสองพี่น้องแมคโดนัลด์แน่นอน พวกเขาทำในสิ่งที่เขาไม่อาจทำได้ที่มาด้วยไอเดียดั้งเดิม เขาคิดการใหญ่และมีความทะเยอทะยาน แต่เรย์ คร็อกคิดการใหญ่กว่า เขาต้องการขยายอีก 2,000 – 3,000 แฟรนไชส์ซึ่งเป็นไอเดียที่บ้ามากในตอนนั้น ดังนั้นเขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่เขาเรียกตนเองว่าผู้ก่อตั้ง แล้วทันทีที่เขาได้กิจการนี้ เขาก็เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของกิจการ แล้วเอาเรื่องราวของพวกเขาออกจากประวัติศาสตร์”
หนังกำกับการแสดงโดย จอห์น ลี แฮนค็อก ผู้ที่ดอน แฮนด์ฟิลด์มองว่าเขาเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเล่าเรื่องราวอเมริกันจ๋าในรูปแบบร่วมสมัยไม่ตกยุค แฮนค็อกกล่าวว่า “มันสนุกดีที่ได้ทำหนังที่วางฉากให้เกิดขึ้นในอดีต ก็เพราะมีพวกรถยนต์ พวกเสื้อผ้าและมองหาสิ่งที่ดูผิดยุคผิดสมัย มันง่ายมากที่จะทำหนังร่วมสมัย แต่มีบางสิ่งที่พึงพอใจเกี่ยวกับการได้ท่องเวลา”
ที่สำคัญ แฮนด์ฟิลด์กล่าวว่าเป้าหมายของหนังไม่ได้เป็นการให้ร้ายเรย์ คร็อกหรือยกย่องสองพี่น้องแมคโดนัลด์แต่อย่างใด “ผมคิดว่าผู้คนครึ่งหนึ่งมองว่าเรย์ คร็อก เป็นอเมริกันฮีโร่ อีกครึ่งก็มองว่าสองพี่น้องแมคโดนัลด์ต่างหากที่เป็นอเมริกันฮีโร่ และผมคิดว่านั่นเป็นเรื่องที่ดี บางครั้งเรย์ คร็อกถูกขับเคลื่อนด้วยความสิ้นหวังและความกลัว เขาไม่อยากเป็นคนล้มเหลว เขาต้องการความสำเร็จโดยอาศัยชั้นเชิงเพื่อบรรลุเป้าหมาย และผมมองว่าเราก็รับมาในฐานะวาระแห่งชาติ มันเกี่ยวกับความสำเร็จที่มีราคาที่ต้องจ่าย”
แล้วคนที่จะมาเป็นเรย์ คร็อก ก็คือนักแสดงผู้เคยถูกเสนอเข้าชิงออสการ์จาก Birdman นาม ไมเคิล คีตัน ผู้ซึ่งดอน แฮนด์ฟิลด์ลงความเห็นว่าเขาหน้าเหมือนเรย์ คร็อก จากการปรากฏตัวบนปกนิตยสาร Entertainment Weekly ส่วนคีตันก็กล่าวถึงเรื่องราวในหนังได้น่าสนใจว่า “ครั้งแรกที่ผมได้ยินเกี่ยวกับกับโปรเจกต์นี่แล้วเริ่มอ่านบท ความคิดแรกที่แวบเข้ามาคือทำไมไม่มีใครพูดถึงเรื่องราวนี้มาก่อน มันเป็นเรื่องราวอเมริกัน ทุนนิยมที่คลาสสิค และทุกคนก็ผูกพันกับแมคโดนัลด์ ไม่สำคัญว่าคุณอาจจะรู้สึกกับเขาอย่างไรในฐานะผู้ใหญ่ มันเป็นความผูกพันในวัยเด็ก มันไม่ใช่แค่แฮมเบอร์เกอร์หรืออาหาร แมคโดนัลด์เป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวัฒนธธรรมส่วนกระแสนิยมและวงการฟาสต์ฟู้ดเท่าที่เคยมีมา มันไม่ได้เกี่ยวกับแฮมเบอร์เกอร์ มันเป็นสิ่งที่อเมริกาเป็นมาสมัยนั้นและมันเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร”
ส่วนสองพี่น้อง ดิ๊ค และ แม็ค แมคโดนัลด์ อดีตหุ้นส่วนของเรย์ คร็อกที่สุดท้ายกลายเป็นคู่ปรับ ก้ได้นิค ออฟเฟอร์แมน และ จอห์น คาร์รอล ลินช์ ซึ่งแอรอน ไรเดอร์ ผู้อำนวยการสร้างมองว่าเป็นการจับคู่ที่เหมาะสมและเข้าขากันได้ดี ตามประวัติ ดิ๊คหรือริชาร์ดถือเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเขาเป็นคนออกแบบซุ้มประตูโค้งสีทองเพื่อให้ร้านอาหารดูโดดเด่นอีกด้วย ทางด้านออฟเฟอร์แมนก็สนใจเรื่องราวเบื้องหลังของวงการอาหารฟาสฟู้ดจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เล่นเป็นตัวละครที่นำเสนออีกด้านของเรื่องราวแมคโดนัลด์ ส่วนลินช์ ผู้รับบทเป็นแม็ค หรือ มัวริซ แมคโดนัลด์ ก็อธิบายไว้ว่า “ดูเหมือนแม็คเป็นคนเข้ากับผู้คนง่าย เพราะเขาชอบผู้คน ผมพนันได้ว่าเขาเป็นคนที่จ้างผู้คน เขาเป็นคนที่มั่นใจเรื่องค่าจ้างและทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนดิ๊คเป็นคนออกไอเดีย พวกเขาต่างเติมเต็มซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดในหนังเรื่องนี้ พวกเขาแตกต่างกันแต่เติมเต็มเพื่อสร้างกิจการ”ซึ่งความสัมพันธ์ก็คือศูนย์กลางของธุรกิจนี้
ฉากสำคัญของหนังเรื่องนี้คือฉากที่แม็ค แมคโดนัลด์เลี้ยงอาหารต้อนรับหุ้นส่วนคนใหม่อย่างเรย์ คร็อก แล้วฉากนั้น ลินช์ต้องพูดบทโมโนล็อกยาว 5 หน้าซึ่งลินช์อธิบายว่า “มันมีกุญแจสำคัญสำหรับหนังเรื่องนี้ และนั่นคือความเร็ว ความเร็วคือเป้าหมายทั้งแฟรนไชส์และตัวหนัง หนังเรื่องนี้ต้องการก้าวไปข้างหน้า และมีบทโมโนล็อกยาวๆซึ่งคุณจะเห็นการเติบโตแนวคิดของแมคโดนัลด์ของสองพี่น้องตั้งแต่พวกเขาเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารจนถึงการพัฒนาระบบเร่งด่วน
แม้ว่าดิ๊คและแม็ค แมคโดนัลด์เป็นผู้ก่อตั้งของกิจการร้านอาหาร แต่เป็นเรย์ คร็อกที่เป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ ลินช์ได้ห้เหตุผลว่าเป็นเพราะคร็อกเสาะแสวงหาการครอบงำอำนาจในการต่อรองธุรกิจต่างหาก ลินช์กล่าวว่า “ทั้งดิ๊คกับแม็คไม่รู้ว่าพวกเขาจะไปทางไหนเมื่อเข้าร่วมธุรกิจกับเรย์ คร็อก พวกเขาไม่รู้ว่าเขาโหดแค่ไหน และมุมมองทุนนิยมของสองพี่น้องก็แตกต่างสุดขั้ว มุมมองทุนนิยมของสองพี่น้องคือความเป็นเลิศ และความมีประสิทธิภาพ และผมมอว่าเป็นความจริงของตัวเรย์ คร็อกด้วย แต่เรย์ก็เพิ่มคำว่า “การครอบงำอำนาจ” เพื่อความสมดุล ดังนั้นมันก็เลยกลายเป็น ความเป็นเลิศ ความมีประสิทธิภาพ และการครอบงำอำนาจ”
หนังสมทบด้วยนักแสดงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สองครั้ง ลอร่า เดิร์น ในบทของอีเธล คร็อก ภรรยาของเรย์มานนานกว่า 39 ปีที่ดูเหมือนว่าสามีของเธอเริ่มห่างเหินเนื่องจากความทุ่มเทด้านการงานของเขา สำหรับบทบาทของเธอ ผู้อำนวยการสร้างดอน แฮนด์ฟิลด์ชื่นชมว่าเดิร์นสามารถเข้าใจตัวละครของเธอและรู้ว่าชีวิตการแต่งงานระหว่างเรย์กับอีเธลจำเป็นต้องอิงจากความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร ส่วนเดิร์นเองก็กล่าวว่าเธอรู้สึกสนใจที่จะเล่นเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้เพียงแต่งงานกับผู้ประกอบการแสนหมกมุ่นเท่านั่น แต่เขายังเป็นคนที่มีแรงขับเคลื่อนอย่างบ้าคลั่งและกระหายที่จะประสบความสำเร็จอีกต่างหาก เธอมักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า “คุณทำแบบนี้ได้อย่างไร” “ปล่อยไว้ได้นานแค่ไหน” คำถามเหล่านั้นทำให้เรื่องศูนย์กลางของความเป็นมนุษย์และศีลธรรมอันดีเข้าไปอยู่ในมุมมองด้านธุรกิจของเรื่องราวในหนัง นอกจากนี้เดิร์นยังได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของครอบครัวของเธอ ตาของเธอเป็นเซลส์แมนผู้มีแรงขับเคลื่อนเช่นเดียวกับเรย์ คร็อกที่ทำให้ยายของเธอมีชีวิตที่ว้าเหว่ เดิร์นยังกล่าวอีกว่าเมื่อเราพบเรย์กับอีเธลครั้งแรกในหนัง พวกเขาก็อยู่ในช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตของชีวิตสมรสจริงๆ ตามด้วย ลินดา คาร์เดลลินี่ รับบทเป็น โจน สมิธ นักเปียโนผมบลอนด์ประจำร้านอาหารของสามีผู้เปลี่ยนชีวิตเรย์และกลายเป็นภรรยาคนใหม่ของเขา แพทริค วิลสัน ในบทของโรลลี่ สมิท สามีของโจน เจ้าของร้านสเต็กที่กลายเป็นลูกค้า แฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ และบี.เจ โนแวค รับบทแฮรี่ โซนเนบอร์น ผู้จัดการธนาคาร เจ้าของไอเดียที่ว่าแมคโดนัลด์ไม่ควรเป็นแค่กิจการทำแฮมเบอร์เกอร์ แต่เป็นกิจการอสังหาริมทัรพย์สำหรับเรย์ คร็อก และเสนอแนะให้เรย์ คร็อกกว้านซื้อที่ดินที่ตั้งร้านแมคโดนัลด์มาเป็นของตนเอง
The Founder ถือเป็นโปรเจกต์สำคัญรวมทีมงานสร้างที่เคยร่วมงานกับจอห์น ลี แฮนค็อกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมือกำกับภาพ จอห์น ชวาทซ์แมน (The Rookie, Saving Mr. Bank) นักออกแบบงานสร้าง ไมเคิล คอเรนบลิธ (The Alamo, The Blind Side, Saving Mr.Banks) และผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แดเนียล ออร์แลนดี (Saving Mr.Banks)ที่พวกเขาร่วมกันเนรมิตฉากยุค 1950 ขึ้นมาและนำวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนยุค 1950 เช่นเดียวกับ Saving Mr. Banksกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ต่างจากผลงานก่อน เพราะขณะที่ Saving Mr.Banks ดูสดใส แต่ The Founder ดูสมจริงมากกว่า แต่ขณะที่หนังดำเนินเรื่องจากต้นยุค 1950 มาสู่ต้นยุค1960 เสื้อผ้าของตัวละครก็จะสดใสมากขึ้น เยาว์วัย และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และที่สำคัญคือการเนรมิตร้านแมคโดนัลด์ที่มีซุ้มโค้งสีทองในยุค 1950 ให้สมจริงยิ่งขึ้น