เลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรให้โดน และไม่เจ็บตัว


ใครว่าการซื้อแฟรนไชส์เป็นเรื่องง่าย จริงอยู่มันอาจเป็นทางลัดไปสู่ความสำเร็จ หากคุณเลือกแฟรนไชส์ซอร์ที่ถูกต้อง แต่จะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก หากคุณต้องลงทุนไปอย่างมหาศาลแล้วสิ่งที่ได้มา ไม่คุ้มกับสิ่งที่จ่ายไป

อย่าลืมสิว่า การจ่ายเงินซื้อแฟรนไชส์นั้นก็คือการซื้อชื่อเสียง ความแข็งแกร่งของแบรนด์ จ่ายค่าโฆษณา เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษให้ผู้บริโภคได้รู้จักเราเร็วขึ้น ซื้อระบบการจัดการเพื่อเป็นการการันตีความสำเร็จ ยังไม่รวมถึงการฝึกอบรบต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการทำธุรกิจไม่เป็นของแฟรนไชส์ซี

แต่การจะหาแฟรนไชส์ซอร์ที่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ และช่วยเหลือแฟรนไชส์ซีอย่างเต็มกำลังก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ววิธีที่คุณจะเลือกซื้อแฟรนไชส์ทำอย่างไร แบรนด์ไหนที่ควรเลือก จะลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบ

ตัวคุณ (แฟรนไชส์ซี)
สิ่งแรกคือต้องเลือกแฟรนไชส์ที่เหมาะกับคุณ ไม่ใช่แฟรนไชส์ที่ทำกำไรสูงสุดให้กับคุณ ประสบการณ์ แรงบันดาลใจ ตลอดจนความปรารถนาความสำเร็จอันสูงสุดในธุรกิจนั้น ๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกของคุณมาก บางธุรกิจให้กำไรสูง แต่คุณไม่มีความสนใจ ไม่มีประสบการณ์ โอกาสในความสำเร็จย่อมน้อยกว่าสิ่งที่คุณสนใจ นอกจากนี้คุณต้องตอบคำถามเหล่านี้ด้วย
• คุณต้องไปหาเงินมาเพิ่มอีกจำนวนเท่าไหร่
• ทักษะของงานที่จะทำให้สำเร็จ ทั้งทางด้านเทคนิคและทักษะที่เกี่ยวกับบุคคล
• เวลาที่จะดูแล
• ขนาดของธุรกิจที่คุณต้องการ
• สไตล์ในการบริหารของคุณ
• แผนที่จะประสบความสำเร็จ (สิ่งนี้ต้องมีก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์)
และที่สำคัญไปกว่านั้น การเป็นเจ้าของกิจการถูกกับจริตของคุณหรือไม่ คุณพร้อมที่จะทำงานซ้ำ ๆ ทุกวันหรือเปล่า คุณเชื่อในกฎกติกาของระบบแฟรนไชส์หรือไม่ และในท้ายที่สุดคุณพร้อมที่จะอยู่กับมันเป็นเวลานับ 10-20 ปีหรือไม่

ตัวเขา (แฟรนไชส์ซอร์)
คงเป็นเรื่องยากที่จะระมัดระวังตัวแฟรนไชส์ซอร์ แต่ก่อนที่คุณจะตกลงปลงใจกับใคร คุณควรที่จะสอบถามแฟรนไชส์ซีที่อยู่ในเครือข่ายของเขาว่าเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีเป็นอย่างไร เคยมีการฟ้องร้องหรือร้องเรียน ดำเนินคดีอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า แล้วเขามีหลักสูตรการฝึกอบรมอย่างไร ตลอดจนถึงกระบวนการสนับสนุนต่าง ๆ ของแฟรนไชส์ซอร์ เขาดูแลแฟรนไชส์ซีซึ่งเป็นเครือข่ายรายได้ของเขาอย่างไร

อีกช่องทางหนึ่งที่คุณจะตรวจสอบแฟรนไชส์ซอร์ของคุณคือการค้นหาความน่าเชื่อถือบนออนไลน์ ตามสื่อต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง นอกจากนี้ตรวจสอบผลประกอบการของแฟรนไชส์ซอร์ของคุณว่ามีผลกำไรหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ศึกษาความเป็นไปได้ของรายได้และกำไรว่าสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน สมเหตุสมผลหรือไม่

ตลาดและอุตสาหกรรม
ไม่เพียงแต่การวิเคราะห์ตัวคุณและแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้น แต่คุณควรวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมและตลาดโดยรวม สถานการณ์ของอุตสาหกรรมหมายถึงสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่คุณต้องการไปลงทุนโดยรวมเป็นอย่างไร คุณต้องมองให้กว้างและยาวไปถึง 10-20 ปี ว่ามีโอกาสเติบโต มีอนาคตหรือไม่ เพราะมันมีความสำคัญกับการตัดสินใจของคุณที่จะเซ็นสัญญาซื้อแฟรนไชส์ โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคของดิจิทัล เป็นยุคของคนเจน Y ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคที่รวดเร็วมาก การเข้าใจอุตสาหกรรม มองผลิตภัณฑ์และตลาดได้อย่างชัดเจน จะช่วยให้คุณตัดสินใจการซื้อแฟรนไชส์ได้อย่างรัดกุมและลดความเสี่ยงด้านการลงทุนของคุณ

หาที่ปรึกษาเป็นตัวช่วย
ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์เป็นการจับคู่กันเหมือนการแต่งงานที่ต้องร่วมหอกันไปอีกนาน ดังนั้นเรื่องบางเรื่องจึงจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา ตัวอย่างเช่น ฝ่ายกฎหมายที่จะมาให้คำแนะนำเรื่องสัญญาต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติต่อกัน ที่ปรึกษาด้านการเงินในกรณีที่เราต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือในบางครั้งการที่ตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ที่มีสถาบันการเงินให้การสนับสนุน ก็จะเป็นการลดความเสี่ยง เพราะสถาบันการเงินได้ทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ให้แล้วในระดับหนึ่งก่อนที่จะจับมือร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้วงเงินกู้ที่สูงกว่าการหาแฟรนไชส์ซอร์ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ที่ปรึกษาด้านระบบบัญชี จริงอยู่ในการซื้อระบบแฟรนไชส์นั้นอาจหมายถึงการซื้อระบบการบริหารบัญชีด้วย แต่ก็ไม่ได้เสมอไป ในระบบแฟรนไชส์ที่มีขนาดกลางและเล็ก เขาอาจไม่มีระบบบัญชีเข้ามาสนับสนุน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องจัดตั้งระบบบัญชีของเราให้แข็งแกร่งตั้งแต่ต้น ดังนั้นที่ปรึกษาจึงมีความสำคัญ

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คุณต้องใช้เวลา ให้ความสำคัญ ก่อนที่จะตกลงปลงใจซื้อแฟรนไชส์รายใดรายหนึ่งไป