เหตุการณ์ “ไฟหมด” มักเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เครื่องยนต์ดับและสตาร์ทไม่ติด อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลืมปิดไฟหน้า ลืมปิดอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้า จนไฟหมด หรือแบตเตอรี่เสื่อม การพ่วงแบตเตอรี่จึงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้ตามปกติในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนนำรถไปตรวจสอบ ซึ่งการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์อย่างไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดอันตรายได้ วันนี้แอดมินนำเคล็ดลับในการพ่วงแบตเตอรี่อย่างถูกต้องมาฝาก สนับสนุนข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีคำแนะนำมาฝาก ดังนี้
การเลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์
- ใช้แบตเตอรี่รถยนต์ที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย
- เลือกแบตเตอรี่ที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งานของรถแต่ละรุ่น โดยมีขนาดแอมแปร์เท่ากัน หรือมากกว่าที่ติดมากับรถยนต์
- มีความจุไฟฟ้าเหมาะสมกับปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของรถ หากมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม อาทิ เครื่องเสียง ให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดแอมแปร์สูงขึ้น
วิธีการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์
ก่อนอื่นต้องเตรียมอุปกรณ์ ดังนี้
- สายพ่วงที่มีมาตรฐาน ทนกระแสไฟฟ้าได้สูง ไม่ควรใช้สายเส้นเล็กที่ขายตามตลาด เพราะอาจเกิดการละลายของสายและเกิดการระเบิดได้
- รถยนต์ที่นำมาต่อพ่วงต้องมีขนาดเท่ากันหรือใหญ่กว่ารถที่ไฟหมด ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารถที่ไฟหมดเป็นรถกระบะคันใหญ่ จะนำรถเก๋งขนาดเล็กมาต่อพวงไม่ได้เพราะจะสตาร์ทเครื่องไม่ติด เนื่องจากขนาดของไดสตาร์ทของรถกระบะมีขนาดใหญ่ต้องการกำลังไฟมากกว่านั้นเอง ถ้ารถกระบะคันใหญ่ก็ต้องต่อพ่วงกับรถกระบะคันใหญ่ หรือรถที่มีขนาดของแบตเตอรี่ใหญ่กว่านั้นเอง
ขั้นตอนการต่อพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์
- แม้เครื่องยนต์จะดับ แต่เราต้องตรวจสอบและปิดสวิตช์อุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดของรถ
- นำรถคันที่มีแบตเตอรี่ปกติมาจอดใกล้ๆ เพื่อต่อสายพ่วงแบตเตอรี่
- นำสายพ่วงแบตเตอรี่ขั้วบวก (สีแดง) มาต่อกับแบตเตอรี่ขั้วบวกของรถคันที่แบตเตอรี่หมด และนำปลายสายขั้วบวกอีกด้านต่อกับแบตเตอรี่ขั้วบวกของรถยนต์คันที่มีไฟ
- นำสายพ่วงแบตเตอรี่ขั้วลบ (สีดำ) มาต่อกับแบตเตอรี่ขั้วลบของรถคันที่แบตเตอรี่มีไฟ และนำปลายสายขั้วลบอีกด้านต่อกับส่วนที่เป็นโลหะของเครื่องยนต์หรือตัวถังของรถที่แบตเตอรี่หมด ซึ่งต้องห่างจากขั้วลบของคันนั้นอย่างนั้น 18 นิ้ว เพื่อความปลอดภัย
- สตาร์ทเครื่องยนต์รถคันที่มีแบตเตอรี่ทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที แล้วเร่งเครื่องยนต์เล็กน้อย เพื่อให้แบตเตอรี่มีการไหลเวียนของประจุไฟฟ้า
- สตาร์ทเครื่องยนต์รถคันที่แบตเตอรี่หมด พร้อมเร่งเครื่องในอัตรา 1,500 – 2,000 รอบต่อนาที เพื่อตรวจสอบว่ามีประจุไฟฟ้าเข้าหลังจากการชาร์จไฟแบตเตอรี่หรือไม่
- หลังจากเครื่องติดแล้วการถอดสายออกก็สำคัญ ย้ำ!!!!!!!! ว่าการถอดสำคัญ ให้ถอด “ย้อนขั้นตอนการต่อ” ต่ออันไหนท้ายสุดก็เอาออกก่อนนะคะหรือตามขั้นตอนดังนี้
– ถอดสายขั้วลบ (-) ออกจากเครื่องยนต์ของรถคันที่ไฟหมด
– ถอดสายขั้วลบ (-) จากแบตเตอรี่ของรถที่มีไฟ
– ถอดสายแบตเตอรี่ขั้วบวก (+) จากขั้วบวกของแบตเตอรี่รถที่มีไฟ
– ถอดสายขั้วบวก (+) จากแบตเตอรี่ของรถคันที่ไฟหมด
- นำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่
ข้อควรระวังในการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์
– ไม่สตาร์ทเครื่องยนต์และเปิดระบบไฟของรถทั้งสองคัน เพราะจะทำให้เกิดประกายไฟ ส่งผลให้เกิดการระเบิดได้
– ไม่ต่อสายพ่วงเข้ากับขั้วลบของแบตเตอรี่ของรถคันที่แบตเตอรี่หมด เพื่อป้องกันแบตเตอรี่ระเบิด
– ห้ามสูบบุหรี่ จุดไฟแช็ก หรือก่อให้เกิดประกายไฟ เพราะในขณะต่อสายพ่วงแบตเตอรี่จะมีแก๊สบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการระเบิดได้
– สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาและถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสแบตเตอรี่ เพราะน้ำกรดในแบตเตอรี่เป็นสารกัดกร่อน ทำให้ได้รับอันตรายได้
– ระมัดระวังไม่ให้แบตเตอรี่เอียงหรือตะแคง เพราะน้ำกรดอาจรั่วไหลออกมาทางรูระบาย ก่อให้เกิดอันตรายได้
– ระมัดระวังไม่ให้ปลายสายพ่วงแบตเตอรี่สัมผัสกัน เพราะจะทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร
สิ่งที่ห้ามทำผิดเพราะ จะทำให้เกิดอันตราย คือ
– ห้ามหนีบ ขั้วลบของคันมีไฟ กับ ขั้วลบของคันไฟหมด (สงสัยย้อนอ่านข้อ 4) การต่อแบบนี้เป็นการต่อแบบขนาน ซึ่งอาจอันตรายถึงขั้นระเบิดได้
– ห้ามสลับการใช้งานของสาย เช่น นำสายขั้วลบต่อกับแบตเตอรี่ขั้นบวก หรือปลายสายข้างหนึ่งต่อแบตเตอรี่ขั้วบวกอีกข้างต่อกับขั้วลบ ให้ระวังและสังเกตุดีๆ ก่อนการใช้งาน
แม้การต่อพ่วงแบตเตอรี่จะสามารถทำเองได้ แต่ก็อย่างประมาทเป็นอันขาด เนื่องจากแบตเตอรี่มีน้ำกรด เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติกัดกร่อนพื้นผิว อีกทั้งในขณะที่แบตเตอรี่ทำงาน จะเกิดการสะสมของ ก๊าซไฮโดรเจน หากมีประกายไฟจะทำให้เกิดการระเบิดได้
ที่สำคัญรถเกียร์ออโต้ควรมีสายพ่วงที่ดีมีมาตรฐานติดรถไว้ตลอด เพราะรถเกียร์ออโต้นั้นเมื่อไฟหมด ไม่สามารถเข็นให้ติดได้อย่างรถเกียร์ธรรมดานะคะ