ความคิดที่อยากจะสร้างระบบแฟรนไชส์เมื่อกิจการขายดีและมีคนเข้ามาขอซื้อเป็นเรื่องธรรมดา แต่การขายระบบแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จและสร้างความยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งแรกที่ต้องทำสำหรับผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์คือ การศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ และนี่คือวิธีขั้นพื้นฐานในการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนสร้างระบบแฟรนไชส์
ศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาด ควรมีความชัดเจนในตลาดที่คุณดำเนินการอยู่ เพราะยิ่งคุณชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คุณสร้าง DNA ของแบรนด์ได้แข็งแกร่งมากเท่านั้น และสามารถถ่ายทอดสู่แฟรนไชส์ซีได้ง่าย เขาก็ทำตลาดง่าย ความสำเร็จก็เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ความเป็นไปได้ทางการตลาด ครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
กราฟชีวิตของสินค้าและบริการอยู่ในระดับไหน เพิ่งเริ่ม เติบโต อิ่มตัว หรือกำลังถดถอย
อะไรคือความต้องการของสินค้าหรือบริการที่คุณดำเนินการอยู่
ลูกค้าของคุณคือใคร
คาดการณ์จำนวนลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่หรือในทำเลที่ร้านตั้งอยู่ ประเมินแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่
โอกาสในการผลิตสินค้าหรือบริการให้ถูกใจลูกค้ามีมากน้อยแค่ไหน
อะไรคือสิ่งที่คุณตั้งใจจะขาย
ใครคือคู่แข่งขัน
ระดับราคาและคุณภาพเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน
อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อนของคู่แข่งรายใหญ่ของคุณ
อะไรคือจุดแข็งของคุณ
มีข้อจำกัดอะไรในการเข้าสู่ตลาด
การศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน ความเป็นไปได้ทางการเงินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะต้องศึกษา เพราะต้องไม่ลืมว่าแฟรนไชส์ซีรอด คุณโต แต่ถ้าแฟรนไชส์ซีตาย คุณก็ดับ และนี่คือปัจจัยทางการเงินที่คุณต้องพิจารณา
ใช้เงินลงทุนเท่าไหร่
ใช้เวลานานแค่ไหนที่เขาจะขายสินค้าหรือบริการชิ้นแรกได้
ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเท่าไหร่
อะไรคือต้นทุนคงที่ อะไรคือต้นทุนผันแปร
ระดับราคาไหนที่ลูกค้ายินดีจ่าย
ประเมินยอดขายขั้นต่ำไว้เท่าไหร่
จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน
ต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะถึงจุดคุ้มทุน
ผลตอบแทนการลงทุนเป็นอย่างไร
ต้องมีแผนในการช่วยเหลือแฟรนไชส์ซีในการวิเคราะห์กระแสเงินสด นอกเหนือการศึกษาความเป็นไปได้สำคัญ ๆ สองหัวข้อที่กล่าวมา สิ่งที่ผู้สร้างระบบแฟรนไชส์จะต้องพิจารณาคือ ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเป็นไปได้ด้านการบริหารจัดการ ศึกษาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อหาทางป้องกันร่วมกัน เป็นต้น