“แฟรนไชส์อาหาร” แห่ชิงส่วนแบ่งตลาด “กัมพูชา”


ปัจจุบันธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ได้รับความนิยมมากในกัมพูชา สังเกตจากแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่แห่แหนเข้ามาในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะเป็นเมืองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบกับชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่เปิดรับการบริโภครูปแบบใหม่ๆมากขึ้น

ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านขายโดนัทเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมาก จากเดิมที่มีเพียง Big Apple Donuts และ USA Donut เท่านั้นที่ครองตลาดส่วนแบ่งในตลาดแฟรนไชส์โดนัทกว่า 50% ของทั้งหมด ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับ Krispy ที่เตรียมเข้ามาแข่งขัน ด้วยทําเลที่ตั้งร้านที่ห่างจาก Big Apple Donuts และ USA Donut เพียง 50 เมตรเท่านั้น

นาย คิมซอง เชีย ประธานบริหารบริษัท Big Apple Donuts & Coffee (Cambodia) กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดกัมพูชาว่ามีกําลังซื้ออยู่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมร้านแบรนด์ดังจากทั่วโลก บริษัทจึงตัดสินใจนําเฟรนส์ไชส์ Big Apple Donuts จากมาเลเซียเข้ามาในกัมพูชา โดย Big Apple เปิดดําเนินการสาขาแรกเมื่อเดือนมกราคม 2015 และ ขยายสาขาเพิ่มเป็น  4 สาขาภายในระยะเวลา 1 ปีและมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายเชีย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในปีนี้ Big Apple จะมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Kesor Donut Factory และแบรนด์ดังจากอเมริกา อย่าง Krispy Kreme แต่บริษัทยังมั่นใจว่าคุณภาพและเมนูที่หลากหลาย รวมถึงรสชาติที่รังสรรค์มาเพื่อชาวเอเชียโดยเฉพาะ จะทําให้ Big Apple ยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้เหมือนเดิม

สำหรับ Krispy Kreme แบรนด์โดนัทและร้านกาแฟ ชื่อดังที่ก่อตั้งมานานกว่า 78 ปี มีสาขาอยู่มากกว่า 1,000 แห่ง ใน 21 ประเทศทั่วโลก และมีสาขาในกลุ่มประเทศอาเซียนมาแล้ว 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย) มีแผนจะขยายสาขาเข้ามาในกัมพูชา โดยมีบริษัทนำเข้ามาชื่อว่า The Express Food Group (EFG) ซึ่งเป็น Franchisee รายใหญ่ของกัมพูชา มีแบรนด์ในเครือที่เป็นร้านอาหารจานด่วนและร้านขนมระดับโลกมากมาย เช่น The Pizza Company Dairy Queen และ Swensen’s รวมแล้ว 42 สาขาอยู่ในความดูแล โดย EFG มีกำหนดเปิดตัว Krispy Kreme สาขาแรกที่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองพนมเปญ ในเดือนมิถุนายนนี้ และมีแผนจะขยายให้ได้ 10 สาขาในเวลา 5 ปี

นาย Martin Leclercq ผู้จัดการด้านการผลิตของ Krispy Kreme (Cambodia) กล่าวว่า ถึงแม่ว่าโดนัทของเราจะเป็นรสชาติแบบอเมริกัน แต่เราเชื่อว่าด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของโดนัทของ Krispy Kreme จะถูกปากคนในประเทศนี้ได้ไม่ยาก เหมือนกับที่ Krispy Kreme ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้ากว่า 24 ประเทศทั่วโลก

นาย David Nget หุ้นส่วนทางธุรกิจของบริษัท USA Donut ร้านโดนัทสไตล์อเมริกันที่เปิดให้บริการในพนมเปญมายาวนานกว่า 20ปี กล่าวว่า การกินโดนัทและกาแฟเปรียบเหมือนเป็นการกินอาหารเช้าของคนอเมริกัน ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้าน จะเป็นชาวต่างชาติที่มาทำงานในกัมพูชา โดยนาย David มีความเห็นว่า ในช่วงแรก Krispy Kreme น่าจะได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะด้วยนิสัยคนกัมพูชาจะชอบลองของใหม่ๆ ทำให้หลายธุรกิจที่เข้ามาทำตลาดในกัมพูชาจะประสบความสำเร็จมากในช่วง 6 เดือนแรก แต่การจะอยู่และครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้ในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีกลยุทธ์ในการรักษาลูกค้า รวมถึงปรับตัวให้เข้ากับคนท้องถิ่นที่นี่ได้จึงจะสามารถอยู่ในตลาดนี้ได้นาน

ด้าน นาย Mao Vibol ผู้จัดการร้าน Pheapbol’s BrewHouse ซึ่งเป็นร้านขายกาแฟ เบอเกอรี่ โดนัทและไอศครีม มีความเห็นว่า ถึงแม้ปัจจุบันชาวกัมพูชาจะรับเอาวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกมามากขึ้น ทำให้มีร้านอาหารและร้านขนมแบรนด์ดังๆ จากต่างชาติเข้ามาในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การจะสามารถอยู่ในตลาดกัมพูชาได้ ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว เมนูต้องหลากหลายและปรับรสชาติให้เข้ากับคนท้องถิ่น รวมถึงต้องมีบริการและการประชาสัมพันธ์ที่ดีจึงจะสามารถครองใจลูกค้าได้

ปัจจุบันการทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์กำลังเป็นที่นิยมมากในกัมพูชา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว บวกกับปัจจุบันชาวกัมพูชานิยมสังสรรค์รวมทั้งนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันวัยรุ่นกัมพูชาได้เปิดรับการบริโภครูปแบบใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวกัมพูชาได้

นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนกัมพูชา ซึ่งมีจำนวนกว่า 5 ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและคุ้นเคยกับการใช้บริการในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นอย่างดี

ในขณะที่อาหารไทยก็เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวกัมพูชาเช่นเดียวกัน ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นอีกธุรกิจที่มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้ามาลงทุนในตลาดกัมพูชา