“วิสัยทัศน์องค์กร” หรือ “ฝันลมๆแล้งๆ” (เส้นบางๆที่กั้น SMEs ไทยสู่ชัยชนะ)


การประกอบธุรกิจทุกประเภท เมื่อผู้ประกอบการเริ่มทำธุรกิจมาดีหรือกำลังไปได้สวย ก้าวต่อไปที่ผู้นำองค์กรต้องเริ่มคิดและฝันต่อ นั่นคือการกำหนด “วิสัยทัศน์” (Vision) ซึ่ง “วิสัยทัศน์หรือฝัน” นั้นก็มีทั้งฝันที่เป็นจริงและฝันลมๆแล้งๆ มีหลายองค์กรมากที่กำหนด “วิสัยทัศน์” ไว้อย่างสวยหรูดูคิดใหญ่แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงฝัน ทำให้คนใน-นอกองค์กรเกิดความสงสัย จนลุกลามเป็นขาดความเชื่อมั่นในสถานะและศักยภาพขององค์กร ซึ่งปัญหาหลักๆมักเกิดจาก 4 ข้อนี้

  1. Copy & Development มาจากองค์กรอื่นที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งธุรกิจ ,ตลาด ,คู่แข่งและลูกค้าแตกต่างกับเรามาก
  2. โลภมากเกินไป อยากจะเป็นอยากจะมีไปซะทุกอย่าง จนดูเหมือนว่าเป็นคนที่ไม่เข้าใจตัวเองว่าตกลงต้องการอะไรกันแน่ เช่น วางเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำด้านโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท ด้วยการบริการที่แตกต่าง โดดเด่น มีคุณภาพและมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างชาติ (เขียนยาวจนคนอ่านและคนปฏบัติตามยังงง)
  3. แล้วเมื่อไหร่ล่ะ? ข้อนี้เจอกันหลายๆที่ ตั้งแต่บริษัทใหญ่บิ๊กบึ้มจนถึงองค์กรโนเนมที่ชอบกำหนดวิสัยทัศน์ไว้อย่างไฮโซโก้หรู แต่ลืมกำหนดกรอบเวลา ว่าตกลงที่คุณจะเป็นหรืออยากจะมี มันอยู่ในกรอบเวลาเท่าไหร่ ไม่ใช่ตั้งไว้แล้วนิ่งยาว…วัดกันเป็นชาติ
  4. จะรู้ได้ไงว่าสำเร็จแล้ว? ข้อนี้ก็ตกม้าตายกันหลายองค์กร “วิสัยทัศน์” ที่ดีต้องวัดผลได้ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ เราต้องรู้ได้ว่าตอนนี้เราบรรลุผลหรือยัง เปรียบเทียบว่าถ้า วิสัยทัศน์องค์กรคือแผนที่” ระหว่างทางที่เราเดินไปนั้นมันต้องบอกเราได้ว่าใกล้ถึงจุดหมายปลายทางแล้วหรือยัง ถ้าไกล>ไกลจากจุดหมายแค่ไหน เพื่อจะได้กำหนดแผนกิจกรรมต่างๆให้ไปถึงจุดหมายได้ทันหรือเร็วขึ้นดีขึ้น

นี่เป็นปัญหาหลักของหลายองค์กร ซึ่งถ้าเราต้องการเริ่มกำหนด “วิสัยทัศน์หรือสานฝันให้เป็นจริง” ผู้ประกอบการต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน

  1. ในอนาคตเราอยู่ในธุรกิจอะไร? วาดภาพฝันของธุรกิจให้ชัดเจน ทั้งระยะสั้น>กลาง>ยาว ว่ามองธุรกิจของตัวเป็นยังไง เห็นอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง
  2. เราจะแข่งกับใคร ที่ไหน? ถ้าฝันแล้วยังทำเหมือนเดิมอยู่ก็คงไม่ต้องกำหนด “วิสัยทัศน์” เพราะการกำหนด“วิสัยทัศน์” ก็เพื่อให้ความฝันในธุรกิจของเรานั้นดีขึ้น ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องมองเห็นโอกาสได้ว่าสินค้าของเรานั้น สามารถขยายตลาดไปที่ไหนได้บ้าง มีโอกาสมากพอมั้ยแล้วต้องไปแข่งขันกับใคร
  3. เราจะแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร? ข้อนี้สำคัญในการหยัดยืนและเพิ่มน้ำหนักความเป็นไปได้ของ “วิสัยทัศน์” ที่กำหนดไว้ แล้วยังทำให้คนใน-นอกองค์กรมั่นใจว่าความฝันนี้มีโอกาสเป็นจริง เนื่องจากมีศักยภาพในการแข่งขัน
  4. ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ถึงจะเห็นภาพจริงในสิ่งที่เราฝัน? ผู้ประกอบการต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนของ “วิสัยทัศน์” ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ให้ฝันนั้นเป็นจริง ซึ่งส่งผลลัพธ์ต่อการกำหนดแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ (Strategic & Action Plan)
  5. ประเมินจากอะไรว่าบรรลุเป้าหมาย? สิ่งสุดท้ายคือการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของ “วิสัยทัศน์” ซึ่ง “วิสัยทัศน์” ที่ดีจะต้องวัดผลได้จริง

การกำหนด “วิสัยทัศน์” ให้เป็นไปได้จริง มันไม่ใช่แค่เราวางประโยคไว้สวยๆแล้วโชว์ให้คนภายนอกเห็นเท่านั้น แต่มันคือสิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนให้เป็นจริง “ไม่เช่นนั้นจากแรงขับอาจกลายเป็นแรงเฉื่อย” เพราะพนักงานจะเริ่มไม่เชื่อถือ “ถ้าเพียงแค่เขียนไว้แต่กลับไม่ทำหรือทำไม่ได้”

วิเคราะห์โดย นราวิทย์ นาควิเวก

CEOบริษัทเอ็กเซลเลนท์ พีเพิล จำกัด

Strategic Partner & Consultant บริษัท พีเพิลแวลู่ร์ จำกัด