คนไทย 74% ตื่นตัวพร้อมเพย์ เปิดรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์


คนไทย 3 ใน 4 สนใจและตอบรับบริการโอนเงินและรับเงินโอนแบบใหม่ “พร้อมเพย์” (Prompt Pay) รวมถึงธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามรายงานผลสำรวจของ ยูโกฟ (YouGov) หนึ่งในบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำของโลก

การเปิดตัวการบริการโอนเงินและรับเงินโอนแบบใหม่ “พร้อมเพย์” (Prompt Pay) มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่ง ยูโกฟ ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศไทย จำนวน 1,022 คน เมื่อเดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมาพบว่า พร้อมเพย์ได้รับความสนใจและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดย 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่าง (ประมาณ 74%) ตั้งใจที่จะใช้บริการนี้ในอนาคต และมีเพียงแค่ 7% เท่านั้นที่ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการให้บริการนี้

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า กลุ่มตัวอย่าง (54%) ตั้งใจที่จะใช้การบริการนี้ผ่านหลายช่องทาง โดยอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 1 ใน 5 ของผู้ที่ตั้งใจจะใช้บริการพร้อมเพย์ จะใช้บริการผ่านช่องทางนี้เพียงช่องทางเดียว ขณะที่ 15% ตั้งใจที่จะใช้บริการผ่านโมบายแบงค์กิ้ง และมีเพียง 10% เท่านั้นที่จะใช้บริการพร้อมเพย์ผ่านตู้เอทีเอ็มเพียงช่องทางเดียว

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวค่อนข้างขัดแย้งกับกับพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบัน ซึ่งตู้เอทีเอ็มเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 66% ของผู้ที่ทำแบบสำรวจใช้ตู้เอทีเอ็มใน 1 เดือนที่ผ่านมา รองลงมาคืออินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ที่มีผู้ใช้บริการ 57% การใช้บริการผ่านสาขาของธนาคาร และผ่านทางโทรศัพท์มือถือ มีผู้ใช้บริการลดลงมาคือ 52% และ 46% ตามลำดับ

ส่วนของประเภทธุรกรรมทางการเงิน การฝากเงินเป็นธุรกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 84% ของกลุ่มตัวอย่างทำธุรกรรมดังกล่าวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รองลงมาคือ การชำระเงินด้วยบัตรเครดิต (52%) และบัตรเดบิต (46%)

ขณะเดียวกัน การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีเพียง 42% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ไม่เคยใช้บริการดังกล่าวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทรูมันนี่ได้รับความนิยมมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการดังกล่าวใน 1 เดือนมีมากถึง 53% รองลงมาคือ Line Pay และ Rabbit ที่มีผู้ใช้บริการ 17% และ 15% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การสำรวจเก็บข้อมูลจากสมาชิกของ YouGov ทั่วประเทศไทยครั้งนี้ ได้ผ่านการถ่วงน้ำหนักเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทย ขนาดกลุ่มตัวอย่างคือ 1,022 คน

ที่มา : YouGov