“มาเลเซีย” เมืองนวัตกรรมการแพทย์สู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ


Malaysian Industrial Development Finance (MIDF) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของมาเลเซียในระยะยาวจะมีอนาคตที่สดใสเนื่องจากความต้องการบริการสุขภาพของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะการรักษาหัวใจ และหลอดเลือด ลำไส้ส่วนบนส่วนล่าง ที่มีราคาถูกกว่าการรักษาในต่างประเทศ

ทั้งนี้อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามารักษาพยาบาลในมาเลเซียมากที่สุดอีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางและประเทศแถบตะวันตกเข้ามารักษาในมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสัดส่วนต่อ GDP ของรายได้อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของมาเลเซียยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2558 มาเลเซียมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจำนวน 1,000  ล้านริงกิต จากนักท่องเที่ยวจำนวน 850,000 คน ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ถึง 1,300 ล้านริงกิต เนื่องจากเห็นศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวบวกกับจำนวนโรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ที่เปิดเพิ่มขึ้นทั่วมาเลเซีย

นอกจากนี้สถานการณ์ค่าเงินริงกิตในปัจจุบันยังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามารักษาพยาบาลในมาเลเซียเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลในมาเลเซียไม่สูงมากจนเกินไป อีกทั้งมาเลเซียยังมีชื่อเสียงด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาลในระดับสากลสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากต่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการ เนื่องจากมีแพทย์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ทั้งจากอังกฤษ สหรัฐฯ อินเดีย และออสเตรเลีย ทำให้มีมาตรฐานการรักษาพยาบาลในระดับสูง รวมทั้งจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่มีจำนวนมากถึง 260 แห่ง (โรงพยาบาลรัฐ 139 แห่ง) ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต้องกังวลเรื่องระยะเวลาการรอพบแพทย์

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนิยมเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในมาเลเซีย ได้แก่ การตรวจสุขภาพทั่วไป การตรวจสุขภาพเฉพาะโรค การทำศัลยกรรมกระดูกและข้อ การรักษาโรคมะเร็ง นอกจากมาเลเซียจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยแล้วราคาก็ยังถูกกว่าการรักษาในต่างประเทศ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบค่าผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (heart bypass surgery) ในสหรัฐฯ ที่มีราคา 70,000 – 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ค่าผ่าตัดในมาเลเซียมีราคาเพียง 9,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า : รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับการผลักดันให้มาเลเซียเป็น ศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลในภูมิภาค โดยการดึงดูดการลงทุนด้านบริการสุขภาพในด้านต่างๆ อย่าง ต่อเนื่อง และส่งเสริมการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่เพื่อรองรับจำนวนคนไข้ทั้งจากในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากภาครัฐแล้วโรงพยาบาลเอกชนต่างๆยังแข่งขันด้านบริการ ทั้งการจ้างแพทย์ต่างชาติที่มีชื่อเสียง การลงทุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาให้บริการและการจ้างล่ามเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีปัญหาด้านการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ

รัฐบาลมาเลเซียคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเติบโตขึ้นร้อยละ 11 ในช่วงระหว่างปี 2558 – 2563 และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และส่งผลให้ภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม จะได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามไปด้วย จากแนวโน้มการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพดังกล่าวของมาเลเซียจึงน่าจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมการลงทุนหรือร่วมทุนกับบริษัทด้านสุขภาพของมาเลเซีย รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยน บุคลากรทางการแพทย์ให้เข้ามารักษาพยาบาลในมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น