สื่อดิจิทัลที่เกิดขึ้นถาโถมโรมรันดั่งคลื่นสึนามิคลั่ง เข้ามาอยู่เกือบจะทุกภาคส่วนธุรกิจ แย่งส่วนแบ่งการตลาดไปมากโข โดยเฉพาะจากสื่อภาพยนตร์ ละคร รายการ ทีวี วิทยุ และหนังสือ บางรายที่เปิดกิจการยืนหยัดมานานถึงกับปิดตัวหลั่งน้ำตากันไป
จากข้อมูลสถิติระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว 2559 อุตสาหกรรมหนังไทยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ค่อนข้างจะน่าใจหาย นั่นคือ ยอดลดลงถึงร้อยละ 15 เท่านั้น เพราะผู้บริโภค (คนดูหนัง) เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ซึ่งไม่กระทบเฉพาะอุตสาหกรรมหนังไทยเท่านั้น แต่คลื่นสึนามิลูกนี้ส่งแรงกระเพื่อมซัดทะลวงไปถึงทุกวงการเลยทีเดียว
วงการภาพยนตร์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การถ่ายทำหนังแต่ละเรื่องจะมีการใช้งบประมาณค่อนข้างสูง มีทีมงานและผู้เกี่ยวข้องนับร้อยชีวิต ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
ในภาคการส่งออกหนังไทยไปยังตลาดต่างประเทศ มีประมาณ 500 บาทต่อปี ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องอาศัยการช่วยเหลือจากภาครัฐในการผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
ขณะเดียวกัน คู่แข่งสายตรงของหนังไทยคือ หนังต่างประเทศ ที่เข้ามากวาดรายได้แย่งส่วนแบ่งตลาดจากแฟนคลับหนังเหล่านั้น หลัก ๆ ก็จะมีหนังฮอลลีวู้ดและเกาหลี ส่วนหนังจากประเทศอื่นก็แชร์กันมาในปริมาณไม่มากนัก
เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา กองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ยกมาถ่ายทำในไทย มีมูลค่าการลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ตามแผนโปรโมทท่องเที่ยวของ ททท.
แหล่งข่าวในสายงานภาพยนตร์ให้ข้อมูลว่า หากจะยกระดับอุตสาหกรรมหนังไทยให้มีเม็ดเงินที่เติบโต มียอดการผลิตที่เพิ่มขึ้น เทียบเท่าฮอลลีวู้ดหรือเกาหลีนั้น รัฐจะต้องให้การสนับสนุนดังต่อไปนี้
- ลดภาษีเกี่ยวกับภาพยนตร์
- สนับสนุน/เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ผลิตสามารถนำภาพยนตร์ในขายในตลาดต่างประเทศให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
- สร้างจุดขายทั้งแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี เอาไว้ในเนื้อหาภาพยนตร์ แล้วจัดกิจกรรมตามรอยภาพยนตร์ หรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับที่เนื้อหาภาพยนตร์พูดถึง ต้องเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนทุกวันนี้
ในความเป็นจริงทุกวันนี้บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างก็ขวนขวายดิ้นรนหารายได้กันเอง แม้ว่ารัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแล้วบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าเมื่อเทียบกับกองถ่ายฮอลลีวู้ดหรือเกาหลี ที่ภาครัฐของประเทศนั้น ๆ ให้การสนับสนุนเต็มที่มากกว่าภาครัฐของไทย
ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ 5 มีนาคม 2560 ได้มีการจัดงาน “ประกาศรางวัลหนังสุพรรณหงส์” ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นี่ก็สื่อให้เห็นถึงการรวมตัวของบุคลากรในอุตสาหกรรมหนังไทย ที่เกาะกลุ่มกันยกระดับอาชีพของตนให้ภาครัฐเห็นความสำคัญ
โดยมีการจัดพิธีมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2559 ซึ่งก็คือ เรื่อง “ดาวคะนอง” ผู้กำกับยอดเยี่ยมคือ คุณอโนชา สุวิชากรพงศ์ หนังดาวคะนอง ดารานำชายยอดเยี่ยมคือ เต๋อ ฉันทวิทชช์ จากหนังแฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว ดารานำหญิงยอดเยี่ยมคือ มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน จากหนังแฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว
การจัดพิธีมอบรางวัลหรือกิจกรรมต่าง ๆ ในวงการอุตสาหกรรมหนังไทยนั้น ยังคงเกิดขึ้นหรือขับเคลื่อนต่อไปโดยบุคลากรในวงการหนัง ที่หวังเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งอุตสาหกรรมหนังไทยจะเติบโตมากขึ้นไปกว่านี้ ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เพื่อวงการหนังไทยเท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงไปถึงการท่องเที่ยว การจ้างงานในกองถ่าย รายได้ และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย
ชายเล็ก บดินทร์