โอกาส SMEs ไซส์เล็ก “ช่องว่างธุรกิจอาหารแบรนด์ไทยส่งออกไกลไปญี่ปุ่น”


บทความจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กระทรวงพาณิชย์

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://goo.gl/3tKhLG

ด้วยความนิยมรับประทานอาหารไทยในญี่ปุ่น ทำให้มีร้านอาหารไทยเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในเขตเมืองที่บางสถานีรถไฟมีร้านอาหารไทยอยู่กว่า 3-4 แห่ง อีกทั้งการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ Thai Select” ของรัฐบาล บวกกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ทำให้อาหารไทยเป็นที่คุ้นเคยของชาวญี่ปุ่น

ด้านอาหารไทยที่ขึ้นชื่ออย่างต้มยำกุ้งและแกงเขียวหวานที่คนญี่ปุ่นรู้จักเป็นอย่างดีนั้น มีบริษัทผู้ผลิตอาหารกระป๋องชื่อดังของญี่ปุ่น “อินาบะ” ได้ทำอาหารกระป๋อง “ไทยซีรีส์” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย และส่งกลับไปญี่ปุ่น ซึ่งได้ผลตอบรับดีจนเกิดการผลิตที่หลากหลาย เช่น แกงเขียวหวานไก่ แกงเขียวหวานปลาทูน่า แกงเผ็ดไก่ แกงเผ็ดปลาทูน่า ต้มยำไก่ แกงมัสมั่น ผัดกะเพราไก่ แกงเหลืองไก่ ฯลฯ และชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มได้นำอาหารกระป๋องไทยซีรีส์ที่ว่านี้ มาดัดแปลงเป็นเมนูต่างๆ เช่น นำมารับประทานกับเส้นอุด้ง แล้วโพสต์ลงสื่อ SNS ทำให้ไทยซีรีส์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่อีกด้วย

ทั้งยังมีอาหารไทยอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารกระป๋อง แล้วกลายเป็นเมนูอาหารประจำบ้านของชาวญี่ปุ่น นั่นเพราะสามารถรับประทานง่าย, นำมาดัดแปลงง่ายและด้วยสังคมปัจจุบัน ที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้นทำให้ไม่มีเวลาเตรียมอาหารเหมือนในอดีต อาหารเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อนำมารับประทานเป็นอาหารประจำวัน

นอกจากอาหารกระป๋องประเภทเมนูกับข้าวแล้ว อาหารกระป๋องประเภทกับแกล้มก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกับแกล้มเวลาดื่มเบียร์ สาเก และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ ซึ่งเบียร์ไทยก็เป็นที่รู้จักในประเทศญี่ปุ่น เช่น เบียร์สิงห์และเบียร์ช้าง และญี่ปุ่นยังมีร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารกระป๋องโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่รวมอาหารกระป๋องทั้งในและต่างประเทศ โดยร้านมีคอนเซ็ปต์ให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินกับอาหารกระป๋องและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีสาขาประมาณ 37 สาขาทั่วประเทศ

หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องประเภทกับแกล้มไทยได้รสชาติถูกใจชาวญี่ปุ่น ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักอาหารไทยมากขึ้น เป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นมีความตระหนักเรื่องการรับมือกับเหตุภัยพิบัติ อาคารสำนักงานต่างๆต้องมีการฝึกซ้อมอพยพเวลาเกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำทุกปี หน่วยงานราชการและบริษัทต่างๆมีการเตรียมอุปกรณ์ดำรงชีพและเสบียงอาหารในยามฉุกเฉินเพื่อพร้อมรับมือกับเหตุภัยพิบัติ จากการสำรวจของเว็บไซต์ Weathernews Inc. เกี่ยวกับความตระหนักในการลดภัยพิบัติเมื่อปี 2016 พบว่า ชาวญี่ปุ่น 47% เตรียมน้ำและอาหารไว้ในยามฉุกเฉิน 18% เตรียมแต่น้ำ 11% เตรียมแต่อาหาร ซึ่งรวมแล้วชาวญี่ปุ่นเกือบ 80% มีการเตรียมตัวเพื่อรับมือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ จากตารางจะเห็นว่า ความตระหนักของชาวญี่ปุ่นจะสูงขึ้นเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง เช่น เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2011 ที่ 3 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2016 ที่จังหวัดคุมาโมโตะ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ผลิตอาหาร (บรรจุขวด, กระป๋อง, พลาสติกกันความร้อน) มีความพยายามที่จะยืดอายุวันหมดอายุเพื่อเก็บรักษาได้นานขึ้น มีการพัฒนารสชาติอาหาร คุณค่าทางโภชนาการและคิดค้นชนิดของอาหารให้มีความหลากหลาย และสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารประจำวัน เงื่อนไขการเลือกซื้ออาหารยามฉุกเฉินของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ได้แก่ วันหมดอายุและความชอบในชนิดอาหาร ซึ่งการเตรียมอาหารยามฉุกเฉินควรเตรียมสำหรับรับประทาน 1 สัปดาห์หรืออย่างน้อย 3 วัน เพราะโดยทั่วไปเมื่อเกิดภัยพิบัติ สาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า แก๊ส) จะกลับมาใช้งานได้ปกติ ต้องใช้เวลาประมาณ 3 วัน

สำหรับอาหารที่เก็บรักษาได้นานเพื่อนำมารับประทานยามฉุกเฉินต้องคำนึงถึงคุณสมบัติ ดังนีh

  1. ระยะเวลาในการเก็บรักษา ควรเก็บรักษาได้นานประมาณ 2- 5 ปี
  2. สามารถรับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องอุ่นหรือใช้น้ำ (เนื่องจากเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ สาธารณูปโภคอย่าง น้ำ, ไฟ, แก๊ส มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถใช้ได้ ทำให้อาหารในยามฉุกเฉินควรเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้อร่อยโดยไม่ต้องอุ่นหรือปรุง และรสชาติไม่ควรเผ็ดเพราะ “น้ำ” เป็นสิ่งสำคัญมาก อาหารรสชาติเผ็ดที่ต้องดื่มน้ำตามจึงไม่เหมาะที่จะเป็นเสบียงอาหารในยามฉุกเฉิน)
  3. มีคุณค่าทางโภชนาการและแคลอรี่สูง
  4. เปิดรับประทานได้ง่าย
  5. ใช้พื้นที่ในการเก็บไม่มาก บรรจุภัณฑ์ไม่ใหญ่เทอะทะ (เพราะบ้านในญี่ปุ่นมีเนื้อที่น้อย)

เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ชาวญี่ปุ่นจึงมีความตระหนักในการรับมือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ซึ่งนอกจากตามครัวเรือน บริษัทและหน่วยงานราชการก็มีความจำเป็นต้องเตรียมอาหารเหล่านี้ไว้  จึงทำให้มูลค่าตลาดอาหารเหล่านี้มีขนาดใหญ่ และด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จึงทำให้ยังมีช่องว่างสำหรับสินค้าใหม่ๆได้มีโอกาสบุกตลาดอยู่เสมอ หากสามารถพัฒนาและวิจัยสินค้าได้เหมาะสมกับตลาดนั้นๆ

อ่านเรื่อง : พฤติกรรมการใช้ “แพคเกจจิ้งบรรจุอาหารในญี่ปุ่น” เปลี่ยนแปลงไป