รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสนับสนุนภาคเกษตรกรรมออกไปจดทะเบียนแบรนด์สินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นในต่างประเทศ โดยจะให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ การจัดทำเอกสารและผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย
เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของตน และเป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรให้เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมาย 1 ล้านล้านเยนในปี 2562
ญี่ปุ่นประสบปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าเกษตรหลายอย่าง เช่น สตรอเบอรีพันธุ์ “Beni Hoppe” หรือองุ่นพันธุ์ “Shine Muscat” มีการลักลอบนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในจีนหรือเกาหลีใต้และส่งออกไปขายราคาถูกในแถบประเทศ AEC สำหรับการป้องกันปัญหานี้จำเป็นต้องเร่งจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ในต่างประเทศภายใน 4 ปีหลังมีการวางจำหน่าย ซึ่งเกษตรกรญี่ปุ่นยังไม่รู้ในเรื่องนี้มากนัก ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-2 ล้านเยนต่อการจดทะเบียน 1 รายการ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเตรียมการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว โดยจะประกาศรับสมัครและคัดเลือกสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการส่งออก เพื่อให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดทำเอกสาร การขอยื่นจดทะเบียน (โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น) จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและคู่มือการจัดการปัญหาล่วงละเมิด (โดยนักกฎหมายและทนายความ) ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้ราว 300 ล้านเยน (ประมาณ 92.48 ล้านบาท) รวมทั้งจะบรรจุไว้ในแผนงานส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา ปี ค.ศ. 2017 ซึ่งจะเป็นการต่อยอดสินค้ำเกษตรที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ของญี่ปุ่นในการส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย
ในปี 2559 ญี่ปุ่นสามารถส่งออกสินค้าเกษตรดังกล่าวเป็นมูลค่า 0.75 ล้านล้านเยน (ราว 0.23 ล้านล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี แต่ทว่าเกษตรกรญี่ปุ่นกลับไม่ให้ความสนใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้านสินค้าเกษตรที่ได้มีการลงทุนค้นคว้าวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ส่งผลให้ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องการส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจกับภาคเกษตรกรของญี่ปุ่นในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาด้านสินค้าเกษตรในการส่งออกสินค้าของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมา กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ผลักดันการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นผ่านการจดทะเบียนเครื่องหมาย GI ของญี่ปุ่นกับประเทศต่าง ๆ กว่า 10 ประเทศ/ภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และกัมพูชา
|
|
เนื่องจากญี่ปุ่นและไทยมีความคล้ายคลึงกันในการสนับสนุนสินค้าเกษตรส่งออก โดยญี่ปุ่นใช้คุณภาพและเอกลักษณ์สินค้าของตนเป็นจุดแข็งในการประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งเกษตรกรและ SMEs ไทยอาจพิจารณาใช้แนวทางเดียวกันในการสนับสนุนสินค้าเกษตรส่งออกของไทย โดยเฉพาะการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสินค้าเกษตรของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เนื้อโคขุนโพนยางคำ ทุเรียนนนท์ ผ้ำไหมยกดอกลำพูน ฯลฯ รวมทั้งการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ให้แก่สินค้าเกษตรของไทยที่มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาขึ้นมาใหม่
ขอบคุณข้อมูลโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กระทรวงพาณิชย์
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
GI 4.0 (EP.1) ผลลัพธ์มหาศาลในการยกระดับสินค้า “จีไอ”
GI 4.0 (EP.2) รู้จัก “75 จีไอ” สินค้าเด็ดที่ผลิตได้เฉพาะไทยแลนด์โอนลี่
GI 4.0 (EP.3) กรณีศึกษา : ญี่ปุ่นเร่งจดทะเบียนสินค้าเกษตรในต่างชาติ