จากผลสำรวจสินค้าที่เป็นอาหารสำหรับผู้สูงอายุในห้างขนาดใหญ่หลายแห่ง พบว่างยังไม่มีความหลากหลายให้เลือกมากนัก จะมีก็เพียงอาหารเสริมแบบชงดื่มเท่านั้น เช่น นมผงและธัญพืชชงดื่มสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งวางขายในโซนสินค้าอาหารเสริม ยังไม่มีโซนขายสินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ แตกต่างจากสินค้าอาหารสำหรับเด็กและทารกที่ทุกห้างจะมีการแบ่งโซนขายและในบางห้างยังแบ่งเป็นโซนขายอาหารสำหรับเด็กที่ผลิตในประเทศและนำเข้าอีกด้วย
ด้านสินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง Taobao, Jingdong และ Kaola ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้า “สูตรไม่มีน้าตาล สูตรน้าตาลน้อย ไขมันต่า” และอาหารเสริมช่วยลดคลอเลสเตอรอล รักษาโรคลำไส้ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งรสชาติไม่ถูกปากผู้สูงอายุ ตรายี่ห้อสินค้าก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อีกทั้งสินค้าบางตัวไม่ได้ผ่านการวิจัยและทดสอบมาก่อนอีกด้วย
สาเหตุที่ตลาดสินค้าอาหารสำหรับทารกและเด็กได้รับการพัฒนามากกว่าสินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่เห็นว่าพ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเด็ก มุ่งส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการของเด็กมากกว่าแต่ก่อน ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารหลายแห่งหันมาคิดค้นพัฒนาสินค้าอาหารสำหรับทารกและเด็กมากขึ้น ทั้งยังมุ่งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
ในทางกลับกันแนวคิดต่อพฤติกรรมการบริโภคของผู้สูงอายุจีนในอดีต มักใช้จ่ายอย่างประหยัดและไม่ซื้อสินค้าราคาแพง “แต่เพราะปัจจุบัน ผู้สูงอายุชาวจีนมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”
จากข้อเท็จจริงพบว่า ความต้องการบริโภคของผู้สูงอายุชาวจีนมีมูลค่าสูงกว่า 300,000 ล้านหยวนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินค้าอาหารมากกว่า 100,000 ล้านหยวนต่อปี และชาวจีนที่เกิดในยุค 80’s ยังหันมาสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุให้ผู้ใหญ่ในบ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และยังช่วยประหยัดเวลาอีกด้วย
นายจู ตานเผิง ผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมอาหารของประเทศจีน เผยว่าจีนได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า สินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุยังมีช่องว่างและโอกาสทางธุรกิจที่ยังเติบโตได้อีกเยอะ ทั้งนี้จากรายงานจากรัฐบาลจีนที่ประกาศเมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมาระบุว่า สัดส่วนการบริโภคสินค้าและภาคบริการสำหรับผู้สูงอายุคิดเป็น 8% ของการบริโภคทั้งหมด มูลค่ารวมกว่า 4 ล้านล้านหยวน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สามารถขยายได้อีกมาก…
หากมองในแง่ของคุณค่าทางโภชนาการ สินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุต้องเป็นไปตามมาตรฐานดังนี้
- มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกาย
- รสชาติถูกปากกลุ่มผู้สูงอายุ
- ให้ผลทางสรีรวิทยาและมีผลดีต่อสุขภาพ
เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเบื่ออาหาร ต้องการรับประทานอาหารทีมีรสชาติหลากหลาย แต่เพราะปัญหาการขบเคี้ยวและระบบย่อยอาหาร ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถกินอาหารบางอย่างได้ ต้องหันมารับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย จึงเป็นเหตุให้ความต้องการบริโภคอาหารเพื่อผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ภายในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งมีขายเพียงแค่เครื่องดื่มแบบชงเพื่อสุขภาพ ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
ดังนั้นการพัฒนาและผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สินค้าประสบความสำเร็จในตลาด อย่างที่ตลาดสินค้าแม่และเด็กได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากตลาดผู้สูงวัยที่ยังไม่ใหญ่มาก “หาก SMEs ไทย จะถือเอาโอกาสนี้มาพัฒนาและขยายตลาดสินค้าอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการไทย ก็จำเป็นต้องศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้สูงอายุชาวจีน เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย” เช่น ผลิตเครื่องดื่ม อาหารทานเล่น อาหารที่มีโภชนาการสูง อาหารสำเร็จรูป เหล้าไวน์ และเครื่องปรุงอาหาร ฯลฯ เพื่อเป็นการเติมเต็มช่องว่างในตลาดผู้สูงอายุ