ปั้นสินค้าท้องถิ่นอย่างไร! ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สินค้าจีไอเป็นได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางการเกษตร สินค้าอาหาร งานฝีมือ ราคาสินค้าที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจีไอจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งตัวสินค้าต้องผูกติดกับแหล่งกำเนิด มีจุดแตกต่างที่พื้นที่อื่นทำเหมือนไม่ได้ ก็สามารถมาจดทะเบียนเป็นสินค้าจีไอได้ เช่น ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ทุเรียนเมืองนนท์ ผ้าตีนจกแม่แจ่มเป็นต้น

ขณะนี้สินค้าจีไอเริ่มได้รับการยอมรับในต่างประเทศมากขึ้น และกำลังพัฒนาเรื่องตรามาตรฐานจีไอในต่างประเทศ อย่างเช่นมาตรฐานจีไอจากอียู นั่นหมายถึงสินค้าจะได้รับความคุ้มครองจากอียูด้วยนั่นเอง ก็จะยิ่งทำให้ส่งออกได้ง่ายมากขึ้น ปัจจุบัน อียูได้รับจดทะเบียนสินค้า จีไอของไทยแล้ว 1 รายการ คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นรายแรกของภูมิภาคเอเชียที่สามารถทำได้ และมีสินค้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอจดทะเบียนจีไออีก 3 รายการ ได้แก่ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง

ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคม 2560 จะมีการจัดงานเพื่อส่งเสริมสินค้าจีไอ ชื่องาน “จีไอมาร์เก็ต 2017” ครั้งที่ 2 ที่เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต โดยจะมีสินค้าจีไอจากอาเซียนมาร่วมออกบูท เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าจีไอเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมระดับสากล และปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีสินค้าจีไอครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากปัจจุบันสินค้าไทยที่ได้รับความคุ้มครองเป็นสินค้าจีไอมีจำนวน 76 รายการ จาก 53 จังหวัด