1.แต่งกายด้วยสูทเสมอ
เมื่อเดินทางติดต่อธุรกิจในกัมพูชา ควรแต่งสูทไม่ว่าอากาศจะร้อนมากเพียงใด ชายกัมพูชานิยมสวมสูทในทุกพิธีการและโอกาส เพราะแสดงถึงความมีอารยธรรม หากเป็นหญิงควรแต่งชุดสุภาพจะเป็นกางเกงหรือกระโปรงที่ไม่สั้นนัก
2. ทักทายอย่างถูกวิธี
คนกัมพูชาเหมือนคนไทยคือทักทายด้วยการไหว้แสดงความเคารพ แต่ผู้ชายหลังจากไหว้แล้วจะเพิ่มการจับมือ เมื่อรับการจับมือจากผู้ที่อาวุโสกว่าแล้ว ผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าควรยกมือไหว้อีกครั้งหนึ่งเพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับไมตรีที่ได้รับจากผู้ที่อาวุโสกว่า สำหรับผู้หญิงกับผู้ชายไม่มีการจับมือใช้การไหว้อย่างเดียว การยิ้มให้กันและการยิ้มตอบเป็นการแสดงไมตรีต่อกันอย่างดี ก่อนการพูดจาหรือทักทาย
3. หัดพูดทักทายด้วยภาษาขะแมร์
ขณะที่ทักทายโดยการไหว้หรือจับมือหาก ควรหัดพูดคำทักทาย โดยคำทักทายก่อนเชิงคำถามว่า
– ชาย พูดว่า จุมเลียบซัว บาด (สวัสดีดีครับ) สุขสบายเต๋ (สบายดีไหม)
– หญิง พูดว่า จุมเลียบซัว จ๊ะ (สวัสดีดีค่ะ) สุขสบายเต๋ (สบายดีไหม)
คำตอบ สำหรับคำทักทาย
– ชาย พูดว่า จุมเลียบซัว บาด (สวัสดีดีครับ) สุขสบาย บาด(สบายดีครับ)
– หญิง พูดว่า จุมเลียบซัว จ๊ะ(สวัสดีดีค่ะ) สุขสบาย จ๊ะ (สบายดีค่ะ)
4. กล่าวคำนำหน้านามอย่างถูกต้อง
คนกัมพูชาซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง จะมีคำนำหน้านามที่เป็นนามพระราชทาน คือคำว่า “เอกอุดม” หรือ “His Excellency” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงกับคำว่า”ฯพณฯ” ในภาษาไทย ต้องเรียกนามพระราชทานนี้ก่อนเรียกนามทุกครั้ง แทนคำว่าคุณหรือนาย คนกัมพูชาซึ่งเป็นนักธุรกิจจะมีคำนำหน้านามที่เป็นนามพระราชทาน คือคำว่า ” อกญา” เทียบเท่ากับ “พระยา” และคำว่า”เนี๊ยะอกญา” เทียบเท่ากับ “เจ้าพระยา” ต้องเรียกนามพระราชทานนี้ทุกครั้งก่อนเรียกนาม
หรือ อาจเรียกรวมกับคำว่า “โลก” ซึ่งแปลว่าท่าน โดยกล่าวเรียกชื่อบุคคลนั้นสั้นๆ ว่า”โลกอกญา” หรือ ” โลกเนี๊ยะ อกญา” ผู้หญิง จะมีคำนำหน้านามว่า “โลกจุมเตียว” ซึ่งแปลว่า ” คุณหญิง” ซึ่งมีทั้งคุณหญิงที่มีตราตั้ง หรือ คุณหญิงที่เรียกเพื่อเป็นการให้เกียรติเพราะสามีเป็นใหญ่ หากไม่ทราบว่าจะเรียกคำนำหน้าที่ถูกต้องอย่างไร ก็เรียก “โลกจุมเตียว” ไว้ก่อน ดีกว่าเรียกชื่อ เพราะถือว่าเป็นการให้เกียรติ ซึ่งหากเจ้าตัวปฎิเสธว่าไม่ใช่ “โลกจุมเตียว” ให้เรียกว่าอย่างไร ก็เรียกตามนั้น คนกัมพูชา บางคนมีคำนำหน้านามยาวมากเพราะเป็นทั้งคุณหญิง อกญา และอาจได้รับปริญญาเอกกิติมศักดิ์ (ดร. ในภาษาไทย ซึ่ง ในภาษากัมพูชา เรียกว่า บัณฑิต) อาจต้องเรียกว่า “โลกจุมเตียว อกญา บัณฑิต…ต่อด้วยชื่อสกุล และ ชื่อตัว…)
5. เรียกชื่อให้ถูกต้อง
การเรียงลำดับชื่อของคนกัมพูชาหลังจากคำว่า Mr. / Mrs. / Miss. หรือ Oknha/Neak Oknha/H.E Oknha / H.E Neak Oknha / Chumteav/ Chumteav Oknha / แล้วจะเริ่มด้วยนามสกุล ชื่อกลาง และชื่อตัว ในการเอ่ยชื่อหากเป็นคำสุภาพต้องอ่านเต็ม เช่น H.E Neak Oknha Ly Yong Phat อ่านว่า เอกอุดมเนี๊ยะอกญา ลียง พัด หรือ เนี๊ยะอกญา ลี ยง พัด
6. ใช้ล่ามของตนเองในการเจรจาธุรกิจ
แม้ว่าคู่ค้าหรือบุคคลที่คุณกำลังเจรจาด้วยจะใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยได้อย่างดี แต่สิ่งที่พูดกันอาจเข้าใจแตกต่างกันได้ ฉะนั้น การใช้ล่ามที่มีคุณภาพจะช่วยให้งานนั้นราบรื่น ไม่เกิดการเข้าใจผิด
7. เข้าร่วมงานพิธีที่ได้รับเชิญ
การเชิญแขกเข้าร่วมพิธีงานมงคล ถือว่าเป็นการให้เกียรติอย่างสูงและแสดงถึงมิตรไมตรีที่ผู้ถูกเชิญต้องไปร่วม แม้ว่าจะไม่สามารถอยู่ได้ตลอดงานแต่ก็ยังดีกว่าการไม่เข้าร่วมเลย
8. ควรนัดรับประทานอาหาร
การรับประทานอาหารร่วมกันจะสร้างความเป็นกันเอง การผลัดเปลี่ยนกันยกแก้วอวยพรถือว่าเป็นมารยาทที่คุณต้องทำ ระหว่างการรับประทานอาหาร และการนัดกินข้าวควรนัดทานมื้อค่ำซึ่งถือว่าเป็นอาหารมื้อสำคัญ และมีบรรยากาศของการผ่อนคลายมากกว่ามื้ออื่นๆ
9. มีของฝากเมื่อพบกัน
การให้ของฝากหรือของขวัญ เป็นการแสดงน้ำใจและมิตรภาพ ซึ่งของชิ้นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นของมีราคาแพง แต่ควรห่ออย่างสวยงามเพื่อแสดงความตั้งใจ
10. ทำใจยอมรับกับค่าน้ำชาหรือค่าอำนวยความสะดวก
วัฒนธรรมรากเหง้าในการทำธุรกิจที่กัมพูชาจะมีค่าน้ำชาหรือค่าวิ่งงาน (รดกา) ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ผู้จะไปทำธุรกิจต้องรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการประกอบการ ที่คนไทยจะจะไปทำธุรกิจที่นั่นต้องทำความเข้าใจ
อ่านเรื่อง : 10 ข้อห้ามเมื่อทำธุรกิจในกัมพูชา