ตัวแทนจาก 28 สมาชิกของอียู ได้ร่วมลงคะแนนเห็นชอบโครงการของคณะกรรมาธิการยุโรปและจัดทำระเบียบเพื่อลดสาร
“อะคริลาไมด์” (Acrylamide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่พบได้ในอาหารต่างๆ เช่น มันฝรั่งทอด เฟรนช์ฟรายด์ ขนมปัง บิสกิต กาแฟ ฯลฯ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดและร้านอาหารทั่วไป ต้องคิดค้นและหาวิธีควบคุมให้ระดับสาร
“อะคริลาไมด์” ในผลิตภัณฑ์ของตนเองให้อยู่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด โดยระเบียบการได้แบ่งมาตรการอกเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับขนาดของผู้ประกอบการ
นาย Vytenis Andriukaitis หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการยุโรป ผู้รับผิดชอบในด้านสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหารมีความยินดีอย่างมากกับการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ โดยกล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นก้าวใหญ่ในการปกป้องสุขภาพและสวัสดิภาพของประชากรยุโรป เพราะนอกจากระเบียบการนี้จะช่วยลดสารก่อมะเร็งได้ ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตื่นตัวและระมัดระวังมากขึ้นเมื่อต้องปรุงอาหารเอง”
“อะคริลาไมด์” เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่ออาหารที่มีแป้งเป็นส่วนผสม เช่น มันฝรั่ง ธัญพืช ข้าว ฯลฯ ได้รับการปรุงสุกโดยการทอดหรืออบด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 120 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้บริโภคมักพบสาร “อะคริลาไมด์” นี้ในอาหารที่ผลิตด้วยกระบวนการทางอุตสาหกรรม เช่น มันฝรั่งทอด บิสกิตและกาแฟ นอกจากนั้นสารนี้ยังพบได้ในอาหารที่ปรุงที่บ้าน เช่น ของที่ทอดในน้ำมันอุณหภูมิสูงว่า 170 องศาเซลเซียส รวมไปถึงขนมปังปิ้ง
“อะคริลาไมด์” ถูกพบครั้งแรกในปี 2545 โดยนักวิจัยชาวสวีเดนจากความบังเอิญขณะทำการทดลองวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของการต่าง ๆ ต่อการเกิดมะเร็ง ซึ่งในปี 2558 องค์การด้านความปลอดภัยทางอาหารของยุโรป (EFSA) ก็ได้ยืนยัน ว่าสาร “อะคริลาไมด์” คือสารที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
โครงการที่ได้รับความเห็นชอบนี้จะถูกส่งต่อไปยังคณะมนตรียุโรปและสภายุโรป โดยมีเวลาตรวจสอบ 3 เดือนก่อนที่จะให้คณะกรรมาธิการยุโรปลงคะแนนเสียงอีกครั้ง และหากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ข้อบังคับใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในกลางปี 2561 เมื่อนำมาใช้แล้วคณะกรรมาธิการอียูก็มีโครงการที่จะตั้งขอบเขตเพิ่มเติมสำหรับอาหารบางประเภทอีกด้วย
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารหลายราย ได้พยายามหาทางลดสาร “อะคริลาไมด์” ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทั้งยังร่วมพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบและควบคุมสารดังกล่าว โดยสมาคมผู้ประกอบการ FoodDrinkEurope ได้แถลงยืนยันว่าผู้ประกอบการต่างพยายามลดสารดังกล่าว แม้จะไม่มีกฎระเบียบใด ๆ ออกมาก่อนหน้านี้
นาง Monique Goyens ผู้อำนวยการสำนักผู้บริโภคยุโรป (BEUC) กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสาร “อะคริลาไมด์” ในอาหาร และกล่าวเตือนถึงผลกระทบของสารดังกล่าวที่มีต่อสุขภาพ แต่ระดับสาร “อะคริลาไมด์” ในอาหารก็ยังคงอยู่ในระดับคงเดิมไม่เปลี่ยน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สหภาพยุโรปจะบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารหันมาลดสารก่อมะเร็งนี้อย่างจริงจัง
นี่จึงถือเป็นโอการสำคัญของ SMEs ด้านอาหารในบ้านเรา ที่ต้องเร่งนำกรณีศึกษานี้มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนเอง เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพมาแรงมากและก็มีการเพิ่มจำนวนผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากปรับตัวรับก่อน ก็จะมีโอกาสเหนือคู่แข่ง