เขียนแผนธุรกิจอย่างไรให้กู้ผ่าน


เขียนแผนธุรกิจอย่างไรให้กู้ผ่าน

 

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทุก ๆ ท่านก่อนว่าแผนธุรกิจไม่ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถขอกู้ได้เลยทันที แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับการอนุมัติง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะหากคุณมีแผนที่ดีก็เรียกได้เลยว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง

ปัจจุบันโลกธุรกิจมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยเสริมให้ธุรกิจก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนตั้งต้นกิจการ หรือเงินหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และการขยายธุรกิจ ด้วยเหตุนี้สถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งรวมถึง SME Development Bank ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทย จึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นความจำนงขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ โดยแสดงหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงแผนธุรกิจด้วย

คำถามคือแผนธุรกิจคืออะไร และต้องทำอย่างไร

แผนธุรกิจ คือ แผนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายอันเป็นผลสำเร็จ โดยผ่านการวิเคราะห์รายละเอียดต่าง ๆ มาแล้วอย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส ของสินค้าและบริการ รวมถึงอุปสรรคและทิศทางการแก้ไข ที่จะเป็นแรงส่งให้กิจการของคุณสามารถประสบความสำเร็จได้นั่นเองโดย SME Development Bank ได้เปรียบแผนธุรกิจเสมือน “เข็มทิศหรือแผนที่นำทางให้กิจการไปสู่จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายได้สำเร็จ”เนื่องจากธนาคารจะนำแผนธุรกิจไปใช้เพื่อพิจารณาโครงการว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เหมาะสมหรือไม่ และธนาคารจะสามารถสนับสนุนสินเชื่อได้หรือไม่ เป็นประเภทสินเชื่อใด และเป็นวงเงินสินเชื่อเท่าไร พร้อมทั้งพิจารณาด้วยว่าโครงการสามารถชำระหนี้คืนธนาคารได้เมื่อใด ควรมีเงื่อนไขและแผนการชำระหนี้คืนเป็นอย่างไร มีระยะเวลาเป็นเท่าใด เพื่อให้สอดคล้องกับประเภทธุรกิจ ลักษณะการดำเนินงาน และความต้องการใช้เงินทุนที่แท้จริง

โดยในแผนธุรกิจต้องประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้

  1. ความเป็นมาของกิจการ เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยละเอียด
  2. วัตถุประสงค์และวงเงินสินเชื่อที่ขอกู้
  3. แผนธุรกิจ เช่น แนวความคิด การวิเคราะห์ SWOT รวมถึงแผนการตลาด แผนการผลิต และแผนการบริหารจัดการ แผนการเงินการลงทุนด้วย

ซึ่งธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อจากความเป็นไปได้ของโครงการว่า โครงการที่จะลงทุนนั้นสามารถจะประสบผลสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ สามารถทำได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบันหรือในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ อย่างไร โดยต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเหมาะสมรองรับไว้หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการตลาด จะพิจารณาด้วยว่า ตลาดมีปริมาณความต้องการหรือขนาดตลาด (Market Size) สามารถรองรับได้มากน้อยเพียงใด มีสภาพการแข่งขันรุนแรงเพียงใด อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายของกิจการ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อความสามารถในการชำระหนี้คืนธนาคาร (Capacity) ของผู้ประกอบการ

มูลค่าการลงทุนทั้งหมด ธนาคารจะพิจารณาว่า มูลค่าการลงทุนดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ กับประเภทธุรกิจและรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ โดยพิจารณาจากขนาดของกิจการในปัจจุบันและที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอนาคต พร้อมทั้งพิจารณาเงินทุน (Capital) ของเจ้าของกิจการ หรือสัดส่วนการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการและธนาคาร

มีความยืดหยุ่นหรือจัดทำแผนสำรอง หากมีสภาพแวดล้อม (Condition) หรือปัจจัยภายนอกทั้งที่ดีและไม่ดีที่นอกเหนือการควบคุมของผู้ประกอบการเข้ามากระทบ กิจการจะมีความสามารถในการปรับตัวอย่างไรต่อปัจจัยดังกล่าว และจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของกิจการว่ามีความสามารถชำระหนี้คืนธนาคารได้หรือไม่อย่างไร

โดยในแผนธุรกิจ ผู้ประกอบการควรจัดทำแบบจำลองเหตุการณ์ทางการเงิน (Scenario) ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case) ไว้ด้วย เพื่อพิจารณาว่า หากกิจการต้องประสบเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดแล้ว จะมียอดขายเป็นอย่างไร กิจการจะยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้คืนธนาคารได้หรือไม่

ทั้งนี้ทาง SME Development Bank ได้เห็นความสำคัญของ SMEs ไทยในการเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนพลังเศรษฐกิจจึงจัดทำแบบฟอร์มเพื่อขอกู้ธนาคารขึ้นในรูปแบบออนไลน์ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจต่าง ๆ  ไว้ใน https://www.smebank.co.th/Th/Development2 และผู้ประกอบการสามารถโหลดแบบฟอร์มเพื่อทดสอบวางแผนธุรกิจของตนเองได้ที่นี่ https://www.smebank.co.th/download/business_plan_v100.pdf