กรณีศึกษา : น้ำท่วมใหญ่กับผลกระทบธุรกิจ “ผ้าครามสกลนคร”
เจษฎา กัลยาบาล ผู้ประกอบการธุรกิจผ้าครามและประธานเครือข่ายธุรกิจ BIZ Club (เครือข่ายธุรกิจขนาดย่อม) จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ธุรกิจเด่นในจังหวัดฯ ณ ขณะนี้ที่มียอดซื้อขายอันดับต้นๆ ได้แก่ ผ้าคราม ผลิตภัณฑ์จากเม่า ไก่ดำภูพาน เนื้อโคขุนโพนยางคำ และข้าวฮางงอก แต่ผ้าครามถือเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้ SMEs และเศรษฐกิจระดับจังหวัดได้มากที่สุด โดยทั้งจังหวัดจะมีการผลิตผ้าครามตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ธุรกิจกลางน้ำอย่างการแปรรูปผ้าครามและการค้าส่ง-ค้าปลีก มากกว่าครึ่งจะอยู่ในตัวเมืองของจังหวัด ซึ่งมีผู้ประกอบการเกี่ยวกับผ้าครามจำนวนมาก แต่ SMEs ที่ได้จดทะเบียนการค้าเกี่ยวกับผ้าครามยังมีเพียง 200 ราย
เนื่องจากผ้าครามสกลนครเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ถูกพัฒนาด้านต่างๆจนเกิดเป็นนวัตกรรม เช่น การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ของจังหวัดฯที่ถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกครามที่ดีที่สุดและการผลิตที่ต้องย้อมกับฝ้ายเท่านั้น บวกกับการทอด้วยมือให้เกิดเป็นลวดลายใหม่ๆ ทำให้ผ้าครามสกลนครกลายเป็นสินค้าที่มี Value และเป็นหนึ่งในสินค้า GI ที่จัดว่าดีเยี่ยมที่สุด มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวีได้ จนสามารถยกระดับชีวิต SMEs ได้ โดยพื้นที่เพาะปลูกครามใหญ่ๆอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูพาน อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุสุมาลย์
ซึ่งในวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่สกลนครครั้งนี้ อำเภอที่ติดกับเทือกเขาภูพานจะไม่มีผลกระทบเนื่องจากอยู่เหนือเขื่อน แต่อำเภอที่อยู่ใต้เขื่อนลงมาโดยเฉพาะอำเภอพรรณนานิคมจะได้รับผลกระทบอย่างมากในอุทกภัยครั้งนี้ นั่นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ได้แบ่งที่นามาปลูกต้นคราม ซึ่งก็มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วหนึ่งครั้ง (ใน 1 ปีจะปลูก 2 ครั้ง การปลูกต่อครั้งใช้เวลา 120 วันจึงจะเก็บเกี่ยวได้) และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สองที่กำลังจะเก็บเกี่ยวทำให้ไม่สามารถเก็บเมล็ดครามได้
ปกติชาวสกลนครจะผลิตผ้าครามตามฤดูกาล และช่วงฤดูฝนไม่นิยมทอผ้าครามเพราะอากาศชื้นจะทำให้ผ้ายากต่อการดูแลรักษาทำให้ใช้เวลาทอและตัดเย็บนานขึ้น ยิ่งเกิดน้ำท่วมยิ่งดูแลยากอีกหลายเท่า บวกกับช่วงเข้าพรรษาจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายผ้าครามเป็นจำนวนมาก ทำให้ก่อนหน้านี้ผู้ค้าต้องเร่งสต๊อกสินค้าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา พอเกิดอุทกภัยขึ้นทำให้สินค้าเสียหายรวมถึงเสียโอกาสการค้ามากมาย โดยเฉพาะการท่วมขังของถนนคนเดินที่เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการค้าผ้าครามที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดฯ ถึงแม้ว่าวันนี้น้ำจะเริ่มลดลงแล้วในตัวเมือง แต่การไหลผ่านของน้ำก็ทำให้อำเภอต่างๆถูกตัดขาดจนไม่สามารถนำสินค้ามาขายได้
ขณะนี้มี SMEs สกลนครเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือมากมาย แต่เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการจดทะเบียนการค้าทำให้ยากต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อีกส่วนคือกลุ่มที่มีการขึ้นทะเบียนเพียงแค่ทะเบียนโอท็อปทำให้ SMEs เหล่านั้นต้องไปยื่นเรื่องเข้าระบบของ ธกส.
ท้ายสุดก็อยากให้คนไทยช่วยอุดหนุนผ้าครามสกลนคร ซึ่งผู้ประกอบการผ้าครามชาวสกลนครก็ไม่ได้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากต้องการขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมบ้านจากความเสียหายครั้งนี้ สนใจติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร หอการค้าจังหวัดสกลนคร
หรือในงาน GI Market 2017 วันที่ 1 -7 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาเวสต์เกต เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้า GI จากจังหวัดสกลนครที่ประสบเหตุน้ำท่วม โดยภายในงานมีการจำหน่ายสินค้า GI ทั่วประเทศ กว่า 60 บูธ เช่น ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เนื้อโคขุนโพนยางคำ น้ำหมากเม่าสกลนคร ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี และสับปะรดบ้านคาฯลฯ