ผ้าไหม “นกยูงไทย” พระราชทาน


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสำคัญและทรงส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และหัตถกรรมการทอผ้าไหมมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีอาชีพที่ยั่งยืน เกิดความภาคภูมิ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งพระองค์ยังทรงเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์ เผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไหม ทำให้ผ้าไหมไทยได้เกิดการยอมรับจากต่างประเทศ

ซึ่งทุกครั้งที่ตามเสด็จ ท่านทรงเห็นว่า ผู้หญิงชาวบ้านสวมใส่ผ้าไหมมัดหมี่มาเฝ้ารับเสด็จ มีความสวยงาม วิจิตรบรรจง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างกันไป  และทรงมีรับสั่งว่า เป็นไปได้ไหมที่ราษฎรของพระองค์จะทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นอาชีพเสริม จึงส่งข้าราชบริพารไปที่บ้านชาวบ้านและพระองค์ก็เสด็จฯตามไป โดยทรงมีพระราชดำริที่จะให้ราษฎรทอผ้าไหมเพื่อรักษาวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป สิ่งที่พระองค์ทรงทำต่อก็คือสร้างศูนย์ศิลปาชีพ โดยมีแนวคิดสำคัญคือ เพื่อให้พ่อแม่ลูกได้อยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า เกิดความอบอุ่นและมีความสุข ทำให้ระยะหลังนี้ผู้ที่ยากจนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี ครอบครัวอบอุ่น สังคมก็ดีตามไปด้วย ครั้งเสด็จฯต่างประเทศ พระองค์ท่านจะสวมชุดผ้าไหมไทยเพื่อประกาศให้ทั้งโลกรู้ถึงความงดงาม และทรงใส่พระทัยมาตลอดเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ผ้าไหมไทยน่าเชื่อถือ เพราะมีการแอบอ้างชื่อผ้าไหมไทย แต่ในความเป็นจริงเป็นผ้าชนิดอื่น

ปี 2545 ISC ทูลเกล้าฯถวายรางวัล Louis Pasteur พระวิริยะอุตสาหะของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสนับสนุน อนุรักษ์ส่งเสริมและเผยแพร่ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมไทย ไม่เป็นเพียงเป็นที่รับรู้แต่ในประเทศไทยเท่านั้น คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ International Sericultural Commission และ (ISC) ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับการพัฒนาหม่อนไหมระดับโลกได้ตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการหม่อนไหมไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้ทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตลอดจนส่งเสริมการทอผ้าไหมลายต่างๆ รวมถึงทรงเป็นผู้นำ เสนอเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทย

ปี 2550 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตราสัญลักษณ์ “นกยูงไทย”

เพื่อให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 4 ชนิดในการจดทะเบียน ประกอบด้วย ตรานกยูงพระราชทาน สีทอง (Royal Thai Silk) สีเงิน (Classic Thai Silk) สีน้ำเงิน (Thai Silk) และสีเขียว (Thai Silk Blend)

โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และยกฐานะเป็นกรมหม่อนไหม จึงได้รับโอนสิทธิหรือรับมรดกสิทธิเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในต่างประเทศ

  • ตรานกยูงพระราชทานสีทอง ผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิตเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง

– ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน

– เส้นไหมต้องสาวด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ

– ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ

– ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

– ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

  • ตรานกยูงพระราชทานสีเงิน ผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน

– ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุงเป็นเส้นพุ่งและ/หรือเส้นยืน

– เส้นไหมต้องสาวด้วยมือหรือสาวด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนไม่เกิน 5 แรงม้า

– ทอด้วยกี่ทอมือชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุกก็ได้

– ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

  • ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ผ้าไหมชนิดที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ

– ใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน

– ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

– ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้

– ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

  • ตรานกยูงพระราชทานสีเขียว ผ้าไหมที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากธรรมชาติ, เส้นใยสังเคราะห์รูปแบบต่างๆตามวัตถุประสงค์การใช้งาน หรือตามความต้องการของผู้บริโภค

– ใช้เส้นไหมแท้เป็นส่วนประกอบหลักมีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง

– ต้องระบุส่วนประกอบของเส้นใยอื่นให้ชัดเจน

– ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้

– ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

– ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

 

ขั้นตอนการยื่นคำขอรับใบรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย “ตรานกยูงพระราชทาน” https://goo.gl/ArsXp1

๑๒ สิงหา

ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด