“โครงการฝากน้ำ Two in one” แก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง จังหวัดเชียงใหม่ อย่างยั่งยืน
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำ “โครงการฝากน้ำ Two in one” วางรากฐานอนาคตแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น เพราะปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเป็นเหตุให้น้ำในลำน้ำแม่แตงมีปริมาณน้ำน้อย ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของคนเชียงใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการท่องเที่ยว
“โครงการฝากน้ำ Two in one” เป็นการบูรณาการระหว่างกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 1
โครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 33 กองพันสัตว์ต่างกองพลทหารราบที่ 7 กองรบพิเศษที่ 5 และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์กรมหาชน) เป็นโครงการนำร่องเพื่อการสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤตช่วงที่แหล่งน้ำสำคัญๆ ที่มีอยู่ขาดแคลนน้ำโดยเป็นการนำน้ำจากลำน้ำแม่แตงในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการส่งน้ำเข้าแปลงเพาะปลูกไปเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บน้ำที่จัดเตรียมไว้เพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องความมั่นคงทางน้ำให้แก่ชาวเชียงใหม่ ว่าจะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการ
ลงพื้นที่ติดตาม “โครงการฝากน้ำ Two in one”
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมด้วยนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำและแนวคิดโครงการฝากน้ำในลำน้ำแม่แตงเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนช่วยบรรเทาอุทกภัยให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนช่วงฤดูแล้ง
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เปิดเผยว่า “สำหรับหลักการบริหารจัดการน้ำของ “โครงการฝากน้ำ Two in one” นั้นจะเริ่มจากการสูบน้ำจากคลองน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาที่รับน้ำมาจากฝายแม่แตงเข้าไปเก็บกักในแหล่งน้ำ 5 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยหยวก สามารถเก็บกักได้ 300,000 ลูกบาศก์เมตร สระเก็บน้ำในศูนย์ประชุมนานาชาติ 6 แห่ง เก็บกักได้ 532,000 ลูกบาศก์เมตร สระเก็บน้ำในกองพันสัตว์ต่าง 1 แห่ง เก็บกักได้ 120,000 ลูกบาศก์เมตร สระเก็บน้ำกองพลทหารราบที่ 7 จำนวน 3 แห่ง เก็บกักได้ 119,000 ลูกบาศก์เมตร และ สระเก็บน้ำพลรบพิเศษที่ 5 อีก 1 แห่ง เก็บกักได้ 20,000ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยจะทำการสูบในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่เกษตรกรกำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งปริมาณน้ำในช่วงนั้น
จะมีปริมาณมากกว่าความต้องการจึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการทำการเกษตร จากนั้นก็จะนำมาใช้ในช่วงฤดูแล้งที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ในอนาคตหากต้องการกักเก็บน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้นยังสามารถทำการขุดสระน้ำหรือพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงบริเวณสองข้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ที่เป็นพื้นที่ในเขตทหารเพื่อเก็บน้ำเพิ่มเติมช่วงที่เกิดน้ำหลากได้อีกด้วย”
“โครงการฝากน้ำ Two in one” ถือเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งในอนาคตกรมชลประทานจะนำไปขยายผลไป
ดำเนินการโครงการในพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะปัญหาใกล้เคียงกันเช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราจังหวัดเชียงใหม่ ที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างในขณะนี้
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 14 ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ประกอบด้วย 1.ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน 2.อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง–แม่งัด (อยู่ระหว่างดำเนินการ) 3.อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด–แม่กวง (อยู่ระหว่างดำเนินการ) 4.ระบบท่อส่งน้ำแม่งัด–แม่แตง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนเฉลี่ยปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาปัญหาอุทกภัย เพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝน เพิ่มพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้ง จำนวน 76,129 ไร่ เพื่อการบริหารจัดการในลุ่มน้ำแม่แตง–แม่งัด–แม่กวง ร่วมกันให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด”
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะเจาะอุโมงค์ผันน้ำจากลำน้ำแม่แตงมาเก็บหรือฝากไว้ที่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูน้ำหลาก และจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา รวมปริมาณน้ำที่จะผันทั้งสิ้น 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งก็จะส่งน้ำที่ฝากไว้ในอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชลย้อนกลับมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงอีกประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ปรับปรุงคลองแม่แตง แก้ปัญหาน้ำหลากท่วมเมืองเชียงใหม่
อย่างไรก็ตามจังหวัดเชียงใหม่ไม่ใช่ประสบเฉพาะปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น เพราะในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เมืองและมีน้ำหลากมาจากดอยสุเทพปุยไหลเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากในทุกๆ ปี ด้วยเหตุนี้กรมชลประทานจึงมีแผนที่จะทำการปรับปรุงคลองแม่แตง ให้สามารถดักน้ำที่ไหลจากดอยสุเทพปุยที่อยู่ฝั่งตะวันตก เข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่แทนการไหลเข้าสู่เมืองเชียงใหม่
สำหรับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดเชียงใหม่นั้น กรมชลประทานจะทำการปรับปรุง
อาคารรับน้ำจากห้วยช่างเคี่ยนและห้วยแก้วลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ก่อสร้างกำแพงริมคลองช่างเคี่ยนทั้งสองฝั่งน้ำไม่ล้นตลิ่ง โดยระดับสันกำแพงจะกำหนดให้ใกล้เคียงกับระดับดินของคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาหรือสูงกว่าเล็กน้อยเพื่อบังคับน้ำในห้วยช่างเคี่ยนและห้วยแก้วให้ระบายลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ด้วยแรงโน้มถ่วงโลก ตลอดจนปรับปรุงขยาย
อาคารรับน้ำลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของห้วยช่างเคี่ยนให้สามารถรองรับน้ำหลากได้ในปริมาณ 25.62 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และห้วยแก้วให้รองรับน้ำหลากได้ 26.51 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นับเป็นการสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืนและแท้จริง
เกร็ดความรู้
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่
ประโยชน์ของโครงการ
- เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เฉลี่ยปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
- บรรเทาปัญหาอุทกภัย / เพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝน
- เพิ่มพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้ง จำนวน 76,129 ไร่
- การจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง–แม่งัด–แม่กวง
- รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
- รายได้จากภาคเกษตรกรรม ประมาณปีละ 1,600 ล้านบาท
- รายได้จากภาคอุตสาหกรรม ประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท
- รายได้จากการผลิตน้ำประปา ประมาณ ปีละ 336 ล้านบาท