นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ บริษัทฯจะปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนของเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กม. สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร(กทม.) จาก 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท โดยจะเรียกเก็บสถานีแรก 16 บาท สองสถานี 23 บาท สามสถานี 26 บาท สี่สถานี 30 บาท ห้าสถานี 33 บาท หกสถานี 37 บาท เจ็ดสถานี 40 บาท แปดสถานีเป็นต้นไป 44 บาท อัตราใหม่นี้เพิ่มขึ้น 1-3 บาทเมื่อเทียบกับค่าโดยสารเดิม ทั้งนี้ราคาค่าโดยสารใหม่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 20.11-60.31 บาท
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การปรับค่าโดยสารครั้งนี้จะปรับราคาจำหน่ายบัตรเดินทาง 30 วัน ทั้งสำหรับประเภทบุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา เป็นบัตรโดยสารราคาพิเศษด้วยโดยปรับขึ้นเที่ยวละ 1 บาท ดังนี้สำหรับบุคคลทั่วไป ประเภท 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท และ 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท สำหรับนักเรียนนักศึกษา ประเภท 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท และ 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท
สำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน ยังคงราคาเดิมไว้ 6 เดือนจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 61 จึงเชิญชวนผู้โดยสารที่เคยซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียวเปลี่ยนมาใช้บัตรเติมเงินเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปยังได้รับส่วนลดครึ่งราคา เมื่อใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุโดยเดินทางได้ไม่จำกัดเวลา
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ได้ปรับค่าโดยสารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 56 ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี ยังไม่ได้ปรับค่าโดยสารพื้นฐานที่เรียกเก็บซึ่งสัญญาสัมปทานกำหนดให้ปรับราคาได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสาร ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงเพิ่มขึ้นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบางรายการสูงขึ้นถึง ร้อยละ 20 เช่นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา นอกจากนั้นบริษัทยังลงทุนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการให้ดียิ่งขึ้น อาทิการสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ จะเริ่มทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณต้นปีหน้า การปรับปรุงระบบตั๋วโดยสารซึ่งจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส (Touch Screen) ทั้งหมด และสั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรมาติดตั้งในระบบเพิ่มขึ้นอีก 50 ตู้ เริ่มทยอยติดตั้งในปี 61 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วประมาณ 50 ตู้ กระจายอยู่ในระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องแลกเหรียญเพื่อซื้อบัตรโดยสารจากตู้จำหน่ายตั๋ว
นอกจากนี้จะจัดเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสารประเภทเที่ยวเดียวในสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารมากช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ที่สถานีหมอชิต สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีสยาม โดยใช้ห้องแลกเหรียญจำหน่ายบัตรเที่ยวเดียว และจะตั้งโต๊ะจำหน่ายตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวทุกราคาที่สถานีพญาไท สถานีสยาม สถานีอโศก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. พร้อมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์บนชั้นชานชาลาเพื่อแจ้งความถี่ในการให้บริการ รวมถึงแจ้งเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องและข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ นอกจากนั้นยังมีแผนลงทุนติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติ ในสถานีต่าง ๆเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นขอปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บในครั้งนี้
ทั้งนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส เริ่มเปิดให้บริการวันที่ 5 ธ.ค. 42 เก็บค่าโดยสาร 10- 40 บาท และได้ปรับราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 49 เป็น 15-40 บาท ครั้งที่สอง 1 มิ.ย. 56 เป็น 15-42 บาท และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งจะครอบรอบ 18 ปี ในเดือน ธ.ค.นี้