กฟภ. ตั้งเป้าเปิด 11 สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0


กฟภ. ตั้งเป้าเปิด 11 สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0

หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไทย

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสนองนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และรัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยตั้งเป้า เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็วให้ครบทุกภูมิภาค 11 สถานี ทั่วไทย ตอกย้ำองค์กรก้าวสู่ยุค PEA 4.0 ภายใต้แนวคิดพัฒนาคน ด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การไฟฟ้าแห่งอนาคต

นำร่องเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าที่หัวหินและโคราช

โครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็วนำร่องเปิดครั้งแรกที่ กฟภ. อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดย นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจากนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการ กฟภ. ประกอบด้วย นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ พันเอกปรัชญา เฉลิมวัฒน์ รศ.ดร.วิสุทธิ์ สุนทรกนกพงศ์ นายยงยุทธ โกเมศ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและภาคเอกชนด้านยานยนต์ไฟฟ้า เข้าร่วมพิธี สำนักงาน กฟภ. อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560

ต่อมา กฟภ. ได้รุกขยายผลการเปิดใช้งานสถานีอีกแห่งหนึ่ง โดยนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ประธานกรรมการบริหาร กฟภ. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็วที่ กฟภ. จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และพันเอก วรพจน์ แก้ววิจิตร เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 21 และนาย บุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธี สำนักงาน กฟภ. จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560

เปิดให้บริการฟรี ตั้งเป้า 11 สถานีทั่วทุกภูมิภาค

ทาง กฟภ. ได้ศึกษาวิจัยและจัดทำระบบโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว จำนวนทั้งสิ้น 11 สถานี ในเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย สายภาคเหนือ(กรุงเทพฯพระนครศรีอยุธยา) จำนวน 2 สถานี สายภาคใต้ (กรุงเทพฯหัวหิน) จำนวน 3 สถานี สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯโคราช) จำนวน 2 สถานี สายภาคตะวันออก (กรุงเทพฯพัทยา) จำนวน 2 สถานี สายภาคตะวันตก (กรุงเทพฯนครปฐม) จำนวน 1 สถานี และสำนักงานใหญ่ กฟภ. จำนวน 1 สถานี

ทั้งนี้ สถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟภ. เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Multi-Standard (CHAdeMO, CCS Combo2, AC Type2) ตามมาตรฐานนานาชาติ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานยุโรปและญี่ปุ่น การอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว (Quick Charge) ใช้เวลาประมาณ 20 นาที สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง วิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กม. โดย กฟภ. เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.00 – 20.00 . โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงสิ้นปี 2560 และมีแผนจัดทำระบบโครงข่ายแบบออนไลน์ ที่เชื่อมโยงทุกสถานีบริการ รองรับความต้องการของผู้ใช้งานยุคดิจิทัล ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนได้ในอนาคต

……………………………………………….