สังคมออนไลน์ อยู่อย่างไรให้รอดปลอดภัย


ขึ้นชื่อว่า สังคมออนไลน์ ก็ย่อมจะต้องมีเรื่องทั้งดีและไม่ดีเกิดขึ้นเสมอเรื่องดีๆ มักจะไม่เป็นปัญหาแต่เรื่องร้ายๆ นี่ซิ ทุกวันนี้ลุกลามใหญ่โตออกไปมากมายชนิดที่ตำรวจยังตามกันไม่ทันเลยทีเดียว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราเองที่จะเรียนรู้วิธีอยู่รอดปลอดภัยในสังคมออนไลน์ ส่วนจะทำได้ยากง่ายขนาดไหนลองดูกันเลย

ปัญหาที่เกิดจากความเปิดกว้างอย่างเสรีของข้อมูลส่วนตัวบนสังคมออนไลน์ สร้างปัญหามาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการล่อลวงที่นำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินและร่างกาย ก็มีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ร้ายแรงถึงขั้นเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ให้ผู้ไม่หวังดีเข้าไปปล้นบ้านหรือเข้าไปทำร้ายคนในบ้านก็มีให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ระวังตัวในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว อย่าง “เหงาจังวันนี้อยู่บ้านคนเดียว” “เบื่อมากใครว่างมากินเหล้าเป็นเพื่อนหน่อยที่…” ล้วนแล้วแต่เป็นการเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีได้คิดและลงมือทำเรื่องร้ายๆ ได้

หากใครมีสติและรู้เท่าทันด้วยการเลือกคบหรือเลือก Add เพื่อนเฉพาะที่รู้จักกันจริง ๆ เท่านั้นก็ช่วยทำให้โอกาสที่จะเกิดเรื่องไม่ดีลดน้อยลงไป ส่วนการเลือกที่จะส่งข้อความแสดงอารมณ์และความรู้สึกออกไปใน “สังคมออนไลน์” ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องระวัง เพราะบางครั้งการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่และสภาพแวดล้อมมากเกินไปก็นำภัยมาสู่ตัวเองได้ เราจึงมีข้อแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มาฝากกัน จะได้ร่วมด้วยช่วยกันไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองหรือคนใกล้ชิดต้องไปเจอกับเรื่องร้ายๆ แบบไม่ได้ตั้งใจ

ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยบน สังคมออนไลน์

1.ไม่เก็บข้อมูลส่วนตัวมาก ๆเอาไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ข้อมูลที่ว่าคือหมายเลขประจำตัวบัตรประชาชน, รหัสบัตรเอทีเอ็ม, พาสเวิร์ดในการเข้าทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ หรือแม้แต่รูปภาพลับเฉพาะส่วนตัวของคุณเอง เอาไปเก็บไว้ที่อื่นหรือเก็บแบบออฟไลน์ได้ก็ควรจะทำ

2.คิดให้ดีก่อนจะ like หรืออยากจะ share อะไรบางอย่าง ต้องคิดให้ดีๆ เพราะทุกวันนี้ข้อมูลที่เป็นเท็จที่อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายให้ทั้งตัวเองและผู้อื่นมีจำนวนมากพอๆ กับข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ใช่เห็นอะไรมาก็แชร์ต่อไปโดยไม่คิดระวังจะเดือดร้อนงานเข้าไม่รู้ตัว

3.ป้องกันความเป็นส่วนตัวเสมอ ทุกระบบทุกช่องทางของการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะมีเรื่องของการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวอยู่เสมอ หากเราไม่คิดจะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเราเลยก็เหมือนกับการอนุญาตให้ใครก็ได้เข้ามาล้วงแคะแกะเกาข้อมูลส่วนตัวของเราได้หมด แบบนี้ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

4.ข้อมูลล่อแหลมอย่าโพสอย่าแชร์ หลายครั้งที่เรามักจะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเด็ก, สตรี, เพศ และความรุนแรง โดยไม่รู้ตัว พึงระลึกอยู่เสมอว่าการโพสและการแชร์เรื่องที่เฉียด ๆ เหล่านั้น เวลาเกิดเรื่องขึ้นมามันเรียกเอาคืนมาไม่ได้ เราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ เอาให้ชัวร์อย่าได้แชร์หรือไลก์เรื่องพวกนี้เลยดีกว่า

5.เลือกที่จะรับ add เพื่อน ดูก่อนว่ารู้จักหรือมาจากสายไหน บางคนก็เปิดกว้างตัวเองแบบชนิดไม่ลืมหูลืมตา ใครขอเป็นเพื่อนเข้ามาไม่ว่าทางไหนก็รับไปซะหมด เจอคนดีๆ ก็รอดตัวไป เจอคนไม่ดีเข้ามารอจังหวะคิดมิดีมิร้ายจะทำไง ใช้สติก่อนรับ add ก็ดีนะ ถ้าจะให้ดีลองดูก่อนว่าคนที่จะเข้ามาเป็นเพื่อนใหม่เนี่ยเคยรู้จักกันมาก่อน เป็นการแนะนำมาจากกลุ่มเพื่อนหรือญาติพี่น้องคนไหนของเราบ้างหรือเปล่าก็จะช่วยได้อีกระดับหนึ่ง

ขอบคุณ Infographic สวยๆ จากโครงการ Cyber Crime www.secure-cyber.net